ข่าวสาร
“สภาดิจิทัลฯ” จัดประชุมออนไลน์คณะกรรมการ ถกข้อคิดเห็นต่อแนวทางการร่วมมือทางเศรษฐกิจดิจิทัลระหว่างไทยและสิงคโปร์ ขับเคลื่อนแนวทางกำหนดบรรทัดฐานใหม่ด้านการค้าทางดิจิทัลของโลก มุ่งพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลไทย หวังยกระดับขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ
20 พ.ค. 2565

วันพฤหัสบดีที่ 28 เมษายน 2565 ที่ผ่านมาสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทยนำโดย นางเขมนรินทร์ รัตนาอัมพวัลย์รองประธานสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทยและประธานคณะกรรมการพันธกิจด้านการพัฒนาศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ด้านดิจิทัลร่วมกันประชุมออนไลน์คณะกรรมการสภาดิจิทัลฯ พร้อมทั้งรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่อประเด็นความเป็นไปได้และความพร้อมของไทยในการจัดทำความตกลงหุ้นส่วนด้านเศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Economy Partnership Agreement: DEPA) ระหว่างไทยและสิงคโปร์ โดยสภาดิจิทัลฯ ได้เข้าร่วมในคณะทำงานเพื่อศึกษาข้อได้เปรียบ/เสียเปรียบ และความพร้อมของไทยในการจัดทำความตกลงหุ้นส่วนด้านเศรษฐกิจดิจิทัล สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ETDA) ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง


ทั้งนี้ สาระความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจดิจิทัล (DEPA) ประกอบด้วยการอำนวยความสะดวกด้านการค้าทางดิจิทัล การไหลเวียนของข้อมูลข้ามพรมแดนและนโยบายการสร้างความเชื่อมั่น และความร่วมมือและการพัฒนาเทคโนโลยีที่เป็นโอกาสในยุคดิจิทัลเพื่อเป็นการกำหนดกฎเกณฑ์ทางการค้าดิจิทัลและส่งเสริมความร่วมมือในประเด็นที่เกิดขึ้นในเศรษฐกิจดิจิทัล โดยความตกลง DEPA จะส่งเสริมความสามารถในการให้ความร่วมมือกันระหว่างระบบดิจิทัลของประเทศต่างๆ ซึ่งจะช่วยให้การดำเนินธุรกิจแบบดิจิทัลของบริษัทสิงคโปร์กับบริษัทในชิลีและนิวซีแลนด์มีประสิทธิภาพมากขึ้น พร้อมยังเป็นการลดต้นทุนหรืออุปสรรคทางดิจิทัลต่างๆ และยังเป็นการสร้างความไว้วางใจในการดำเนินธุรกิจอีกด้วย


จากการประชุมระดมข้อคิดเห็นในครั้งนี้ได้มีการรับฟังความคิดเห็นอย่างรอบด้านและถี่ถ้วน พร้อมทั้งสรุปข้อคิดเห็นต่อประเด็นความเป็นไปได้และความพร้อมของไทยในการจัดทำความตกลงหุ้นส่วนด้านเศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Economy Partnership Agreement: DEPA) ระหว่างไทยและสิงคโปร์ จากคณะกรรมการสภาดิจิทัลฯ โดยประเด็นสำคัญคือ การเสนอให้พิจารณาถึงความร่วมมือกับประเทศสิงคโปร์อย่างถี่ถ้วน พร้อมรับฟังความเห็นจากผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบโดยตรง โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากจะต้องมีการปรับเปลี่ยนมาตรฐานไม่ว่าจะเป็นด้านโลจิสติกส์ ด้านการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ หรือด้านการส่งข้อมูลระหว่างประเทศ ซึ่งในเรื่องของข้อมูลก็ยังต้องให้ความสำคัญกับการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของประชาชนเป็นหลัก