ข่าวสาร
ณัฐวุฒิ อมรวิวัฒน์ รองประธานสภาดิจิทัลฯ ขึ้นเวทีร่วมวงเสวนาในงาน “Long-Term Resident Visa (LTR) Program Launching Event” ขับเคลื่อนมาตรการส่งเสริมการลงทุน กระตุ้นภาคอุตสาหกรรมดิจิทัล สร้างมูลค่าอนาคตเศรษฐกิจไทย
1 ก.ย. 2565

ณัฐวุฒิ อมรวิวัฒน์ รองประธานสภาดิจิทัลฯ ขึ้นเวทีร่วมวงเสวนาในงาน “Long-Term Resident Visa (LTR) Program Launching Event” ขับเคลื่อนมาตรการส่งเสริมการลงทุน กระตุ้นภาคอุตสาหกรรมดิจิทัล ตั้งเป้าเสริมแกร่ง 10,000 สตาร์ตอัป จ้างแรงงานทักษะสูงเพิ่มขึ้นกว่า 500,000 ตำแหน่ง สร้างมูลค่าอนาคตเศรษฐกิจไทย


31 สิงหาคม 2565 – “คุณณัฐวุฒิ อมรวิวัฒน์” รองประธานสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทยและประธานคณะกรรมการพันธกิจด้าน Startup ขึ้นเวทีร่วมวงเสวนา “LTR Talk” ภายในงานเปิดตัววีซ่าประเภทใหม่ “Long – Term Resident Visa: LTR Visa” ร่วมกับ "คุณดวงใจ อัศวจินตจิตร์" เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ), “Ms. Vibeke Lyssand Leirvåg", Chairwoman of the Joint Foreign Chambers of Commerce in Thailand (JFCCT) และ “Mr. Omri Morgenshtern", CEO of Agoda ซึ่งจัดโดยสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ณ โรงแรมวอลดอร์ฟ แอสโทเรีย กรุงเทพฯ งานเสวนาครั้งนี้ได้รับเกียรติจาก "หม่อมหลวงชโยทิต กฤดากร" ผู้แทนการค้าไทยและที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี กล่าวปาฐกถาเปิดโครงการ Long-Term Resident Visa (LTR) โดยมีผู้บริหารองค์กรภาครัฐ ภาคเอกชน เอกอัครราชฑูต และกงสุลใหญ่ต่างประเทศประจำประเทศไทย ผู้บริหารองค์กรภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ผู้บริหารองค์กรภาคเอกชนและภาคธุรกิจชั้นนำ ประธานหอการค้าต่างประเทศต่างๆ เข้าร่วมรับฟัง



“หม่อมหลวงชโยทิต กฤดากร” ผู้แทนการค้าไทยและที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี กล่าวในการเปิดตัววีซ่าประเภทใหม่ “Long – Term Resident Visa: LTR Visa” ที่จะเปิดใช้อย่างเป็นทางการในวันที่ 1 กันยายน 2565 ว่าประเทศไทยต้องเร่งการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว หลังจากได้รับผลกระทบจากโควิดในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา การเปิดประเทศรับชาวต่างชาติมีเป้าหมายไปที่กลุ่มนักท่องเที่ยวคุณภาพสูง รวมถึงการดึงดูดบุคลากรที่มีศักยภาพสูงเข้ามาเพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายและการลงทุนและ LTR Visa ถือเป็นมาตรการสำคัญที่จะช่วยเร่งการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย โดยรัฐบาลไทยมีนโยบายให้สิทธิพิเศษแก่นักลงทุนต่างชาติเพื่อดึงดูดให้เข้ามาตั้งฐานธุรกิจในประเทศ โดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายที่จะช่วยเพิ่มศักยภาพของเศรษฐกิจไทยให้ก้าวไปสู่เศรษฐกิจใหม่ที่ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมสมัยใหม่เพื่อสร้างการเติบโตในระยะยาว




“คุณดวงใจ อัศวจินตจิตร์” เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า LTR Visa จะให้สิทธิประโยชน์กับบุคลากรชาวต่างชาติ 4 กลุ่ม ได้แก่ 1) ผู้มีความมั่งคั่งสูง 2) ผู้เกษียณอายุจากต่างประเทศ 3) ผู้ที่ต้องการทำงานจากประเทศไทย และ 4) ผู้ที่มีทักษะเชี่ยวชาญพิเศษ สำหรับสิทธิประโยชน์สำหรับผู้ถือ LTR Visa จะได้สิทธิพำนักในประเทศไทย 10 ปี โดยคาดว่าจะดึงดูดผู้พำนักชาวต่างชาติกลุ่มใหม่ที่มีฐานะทางเศรษฐกิจดี รวมถึงผู้มีทักษะและความเชี่ยวชาญ เพื่อมากระตุ้นการใช้จ่าย การลงทุน และช่วยผลักดันการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ




“คุณณัฐวุฒิ อมรวิวัฒน์” รองประธานสภาดิจิทัลฯ กล่าวว่า ขอบคุณความร่วมมือระหว่างสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) และ สภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย (ดีซีที) ในการร่วมกันขับเคลื่อนมาตรการส่งเสริมการลงทุนสำหรับดิจิทัลสตาร์ตอัป และกลุ่มผู้ประกอบการนวัตกรรมและเทคโนโลยีด้วยดีมาโดยตลอด ซึ่งทางบีโอไอได้ออกมาตรการดึงดูดกำลังคนศักยภาพสูง (Talent) ทั้ง LTR Visa และ Smart Visa โดยเมื่อควบคู่กับมาตรการส่งเสริมการลงทุนในสตาร์ตอัป และ Tech Company จะก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด ทั้งนี้ ที่ผ่านมานโยบายของประเทศไทยได้ก้าวหน้าอย่างมาก ดังจะเห็นได้จากมาตรการยกเว้นภาษี Capital Gains Tax แก่นักลงทุนไทยและต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในสตาร์ตอัปไทย



“สภาดิจิทัลฯ ได้บูรณาการความร่วมมือกับกรมสรรพากร และหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง อาทิ สวทช. NIA และ ก.ล.ต. รวมถึงภาคเอกชน ในการผลักดันมาตรการยกเว้นภาษี Capital Gains Tax เป็นเวลา 10 ปี โดยประกาศใช้เมื่อเดือนมิถุนายน 2565 ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการยกเว้นภาษีที่เกิดจากกำไรในการลงทุนซื้อขายหุ้นในบริษัทเทคโนโลยีเป้าหมายของประเทศไทย โดยไม่มีการจำกัดทุนจดทะเบียนหรือจำนวนพนักงาน และยังเปิดกว้างให้กับนักลงทุนทุกประเภททั้งไทย และต่างประเทศ บุคคลธรรมดา และนิติบุคคล รวมถึง Angels, VCs และสตาร์ตอัป จึงถือเป็นข่าวดีของประเทศไทยในการดึงดูดนักลงทุนทั้งไทยและต่างประเทศให้เข้ามาลงทุน เพื่อพลิกฟื้นเศรษฐกิจไทย รวมถึงยังเป็นการสร้างไทยเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจโลก ตลอดจนเป็นการช่วยให้สตาร์ตอัปไทยระดมทุนจากนักลงทุนได้เพิ่มมากขึ้น อีกทั้งยังเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันกับต่างประเทศ ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการส่งเสริมและสนับสนุนสตาร์ตอัปไทยให้เติบโตแข็งแกร่งเทียบกับประเทศชั้นนำของโลกได้”




การส่งเสริมการลงทุนและสิทธิประโยชน์สำหรับธุรกิจด้านเทคโนโลยีและสตาร์ตอัปในประเทศไทย ถือเป็นวาระเร่งด่วนที่ทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐและเอกชนจะต้องร่วมกันขับเคลื่อนนโยบายอันเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติและประชาชน และเป็นโอกาสอันดียิ่งในการดึงดูดนักลงทุนทั้งไทยและต่างประเทศให้เข้ามาลงทุน สร้างมูลค่าเพิ่มให้เศรษฐกิจในประเทศไทย โดยคาดว่ามาตรการยกเว้นภาษี Capital Gains Tax ร่วมกับมาตรการ LTR Visa และมาตรการอื่นๆ ของภาครัฐ จะช่วยให้ Startup Ecosystem ของประเทศไทยมีความแข็งแกร่ง โดยตั้งเป้าว่าจะสามารถทำให้มีสตาร์ตอัปถึง 10,000 ราย และกระตุ้นการจ้างงานทักษะดิจิทัลขั้นสูงในประเทศอย่างน้อย 500,000 ราย เชื่อมั่นสามารถพลิกฟื้นและสร้างมูลค่าเศรษฐกิจไทยได้โดยเร็ว “คุณณัฐวุฒิ อมรวิวัฒน์” รองประธานสภาดิจิทัลฯ กล่าว



สภาดิจิทัลฯ พร้อมเร่งดำเนินการขยายความร่วมมือกับทุกภาคส่วน ทั้งหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง เพื่อผลักดันนโยบายส่งเสริมการลงทุน ด้านเทคโนโลยี นวัตกรรม แก่สตาร์ตอัปและผู้ประกอบการไทย ในการสร้างความเข้มแข็ง นำไปสู่การพัฒนาประเทศในอนาคต และยกระดับขีดความสามารถการแข่งขันในระดับโลก ทั้งนี้ สตาร์ตอัป นักลงทุน และผู้ที่สนใจสามารถศึกษารายละเอียดมาตรการ Long-Term Resident Visa (LTR) เพิ่มเติมได้ที่ https://ltr.boi.go.th