ข่าวสาร
“ศุภชัย เจียรวนนท์” ประธานสภาดิจิทัลฯ ร่วมแสดงวิสัยทัศน์ในงานสัมมนาและนิทรรศการ “Thailand 4.0 ประเทศไทยไปไกลกว่าที่คิด: Thailand 4.0 The Future and Beyond”
1 ธ.ค. 2565

“ศุภชัย เจียรวนนท์” ประธานสภาดิจิทัลฯ ร่วมแสดงวิสัยทัศน์ในงานสัมมนาและนิทรรศการ “Thailand 4.0 ประเทศไทยไปไกลกว่าที่คิด: Thailand 4.0 The Future and Beyond” หนุนประเทศไทยขับเคลื่อนเศรษฐกิจสู่ยุค 5.0 เสริมศักยภาพการแข่งขันด้านเทคโนโลยี พลิกโฉมสู่ Tech Hub ของภูมิภาค  


เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2565 “นายศุภชัย เจียรวนนท์” ประธานสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย ร่วมแสดงวิสัยทัศน์ในหัวข้อ “ทิศทางเศรษฐกิจดิจิทัลในยุค Thailand 4.0” ในงานสัมมนาและนิทรรศการ “Thailand 4.0 ประเทศไทยไปไกลกว่าที่คิด: Thailand 4.0 The Future and Beyond” ซึ่งจัดขึ้นโดยกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) โดยมี “พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ” รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดงาน พร้อมด้วย “นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม “ศาสตราจารย์พิเศษวิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ” ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม “นายภุชพงค์ โนดไธสง” เลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ร่วมกิจกรรม ณโรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ เซ็นทรัลพลาซา ลาดพร้าว เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายสำคัญ ในการส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล สร้างความตระหนักให้แก่ประชาชนนำเทคโนโลยีมาใช้อย่างเกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อการพัฒนาประเทศ ก้าวสู่ Thailand 4.0




นายศุภชัย ประธานสภาดิจิทัลฯ กล่าวถึง ทิศทางเศรษฐกิจในยุคไทยแลนด์ 4.0 โดยเริ่มจากความสำคัญของเมกะเทรนด์หรือความท้าทายใหญ่ของโลก ประกอบด้วย 1) ลดความเหลื่อมล้ำ (Inclusive Capital) การเข้าถึงองค์ความรู้ จะทำให้ลดความเหลื่อมล้ำ เกิดความเท่าเทียมในการเข้าถึงโอกาส 2) การเปลี่ยนสู่ดิจิทัลและพลังงาน (Digital & Energy Transformations) การใช้พลังงานไฟฟ้าภายใต้ระบบเศรษฐกิจดิจิทัล 3) การเปลี่ยนแปลงภูมิทางอากาศ (Climate Change) ทำให้โลกอยู่ในภาวะสมดุลระหว่างคนกับสิ่งแวดล้อม 4) เงินเฟ้อขั้นรุนแรง (High Inflation) เนื่องจากโควิดทำให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างรุนแรง ตลอดจนการปิดกั้นระบบการค้าและการเดินทางระหว่างประเทศ 5) โลก 2 ขั้วอำนาจ (Bipolar World) ซึ่งเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกิดภาวะเงินเฟ้อ โดยเงินตราและเทคโนโลยี เป็นความท้าทายที่ทำให้เกิด Bipolar World และ 6) สุขภาพและโรคระบาด (Health & Pandemic) โดยในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาการแพร่ระบาดของเชื้อโรคไวรัสโควิด 19 ทำให้เกิดความตระหนักรู้และขับเคลื่อนสู่ระบบด้านสาธารณสุข และการแพทย์ สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นความท้าทายที่โลกและประเทศไทยกำลังเผชิญ




นายศุภชัย กล่าวต่อว่า ภาพรวมของเศรษฐกิจโลกในปี 2023 จากการ Forecast โดย IMF พบว่า ในปีที่ผ่านมา หลังจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจากการเปิดประเทศจึงมีการเติบโตอยู่ที่ 2.7% โดยหากประเทศไทยตั้งจุดยืนการเป็นศูนย์กลางด้านเทคโนโลยีและวิวัฒนาการของอุตสาหกรรม 4.0 จะมีโอกาสสูงที่จะดึงเอาเม็ดเงินและทุนระดับโลกเข้าสู่ประเทศไทย ทำให้ประเทศไทยเป็น Tech Hub ของภูมิภาค




“ความเปลี่ยนแปลงในเชิงเศรษฐกิจของโลกที่เกิดขึ้นตั้งแต่ยุค 1.0 ที่เป็นเรื่องเกษตรกรรม จนถึงทุกวันนี้ที่อยู่ในยุค 4.0 เป็นยุคของข้อมูล และตอนนี้มาถึงจุดเปลี่ยนสำคัญคือจากยุค 4.0 เข้าสู่ 5.0 เป็นยุคเทคโนโลยีอย่างแท้จริงประเทศที่มีเทคโนโลยีขั้นสูงและสามารถ Export เทคโนโลยีได้ จะก่อให้เกิดความมั่นคงทางเศรษฐกิจ รวมทั้งการต่อยอดในเรื่องเทคโนโลยีใหม่และAI ซึ่งเป็นกลไกที่ทำให้ระบบเศรษฐกิจเติบโตแบบก้าวกระโดด ดังนั้น เทคโนโลยีจึงถือว่าเป็นสิ่งมีค่าใหม่มาแทนที่ทอง เงินตรา และน้ำมันนอกจากนั้น ยุคเศรษฐกิจ 5.0 จะต้องผสมผสานในเรื่องสุขภาพและความยั่งยืน” นายศุภชัย กล่าว




นายศุภชัย กล่าวถึง สิ่งสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศไทยสู่ยุค 5.0 คือการเปลี่ยนแปลง ดังนี้ 

1. การเป็นศูนย์กลางแห่งเทคโนโลยี (Tech Hub) ในภูมิภาค โดยการเปลี่ยนผ่านอุตสาหกรรมรถยนต์ไปสู่ EV ซึ่งมาพร้อมพลังงานทางเลือกรวมทั้งระบบโครงสร้างพื้นฐานหรือคลาวด์เทคโนโลยี การสร้างศักยภาพในการเป็น Innovation Cluster ทั้งHardware และ Software ตลอดจนการขับเคลื่อนให้เกิดTech Startups ยกตัวอย่าง 1 Startup จ้างงาน 50 คน หากตั้งเป้าให้เกิด20,000 Startupsทำให้เกิดกลุ่มคนผู้ที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีกว่า 1,000,000 คนจะทำให้เกิดนวัตกรรมตลอดจน Digital Transformation ที่จะทำให้ประเทศไทยเป็น Tech Hub อย่างแท้จริง

2. ศูนย์กลางการขนส่งและการเงินของภูมิภาค (Logistic & Financial Hubs) โดยเฉพาะหากมีรถไฟไทย-จีน จะเชื่อมโยงมาถึง EEC และการเชื่อมโยงภาคใต้ หรือมหาสมุทร ทำให้ประเทศไทยกลายเป็น Logistic Hub ในภูมิภาคเอเชีย

3. ศูนย์กลางความมั่นคงทางอาหาร (Food Security Hub) โดยการทำ Digital Transformation ด้านการเกษตร นำเทคโนโลยี Smart Farming, Industrialization บริหารการเพราะปลูก รวมทั้งระบบ Supply Chain สิ่งจำเป็น คือการบริหารน้ำและชลประทานและการเพิ่มมูลค่าทางการเกษตรโดยเทคโนโลยีไปจนถึงการสร้างแบรนด์ในระดับโลก

4. ศูนย์กลางด้านสุขภาพ (Healthcare Hub) โดยประเทศไทยมีชื่อเสียงในด้านสถาบันการศึกษาและโรงพยาบาลทางการแพทย์ ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญในการต่อยอดไปถึง Inventive Healthcare และ Telemedicine

5. State Transformation การขับเคลื่อนบุคลากรชั้นนำของภาครัฐให้มีผลตอบแทนและสวัสดิการสูงกว่าเอกชน เพื่อดึงดูดผู้มีความรู้ความสามารถและมีทักษะด้านดิจิทัล (Digital Literacy) เข้ามาในระบบราชการ สามารถตอบสนองความต้องการและการแข่งขันของประเทศไทยอย่างเข้มแข็ง 

6. ความยั่งยืน (Sustainable & Green Nation) โดยการใช้พลังงานทดแทน ก่อให้เกิด Inclusive Capital ที่ลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความยั่งยืน โดยประเทศที่ Export สินค้าที่มีต้นทุนด้าน Carbon ก็จะมี Carbon Tax เกิดขึ้น เชื่อมโยงกับการสร้างขอบเขตโครงสร้างพื้นฐานใหม่ เช่น การสร้าง Smart City เป็นการเพิ่มศักยภาพในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม

7. ความพร้อมของทรัพยากรมนุษย์ (People Readiness) โดยการปฏิรูปการศึกษา (Education Reform) ด้วย Digital Transformation ส่งเสริมให้เด็กสามารถเข้าถึงองค์ความรู้ผ่านอินเตอร์เน็ตที่มีการคัดกรอง Content ต่างๆ ที่เหมาะสมจะทำให้มีโลกทัศน์กว้างไกลและทัดเทียมเด็กในประเทศที่พัฒนาแล้ว หรือประเทศที่มีศักยภาพสูงทั่วโลก เป็นเรื่องที่น่ายินดีที่ภาครัฐได้มีการอนุมัติคอมพิวเตอร์ 1.5 ล้านเครื่องให้แก่เด็กด้อยโอกาสตั้งแต่ ป.1 - ม.6 ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี นอกจากนั้น ต้องผลักดันให้เกิดการพัฒนาทักษะ Future Workforce ส่งเสริมให้พนักงาน Upskill/Reskill ในระดับที่เขียน Software ได้ 




สำหรับงานสัมมนาและนิทรรศการ “Thailand 4.0 ประเทศไทยไปไกลกว่าที่คิด: Thailand 4.0 The Future and Beyond” สอดรับกับนโยบายของกระทรวงดิจิทัลฯ มุ่งสร้างความรู้ความเข้าใจในการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัลกับประชาชน เพื่อให้ตระหนักถึงความสำคัญของเทคโนโลยี สามารถนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด สร้างโอกาสในการประกอบอาชีพโดยการจัดงานในครั้งนี้ เป็นการบูรณาการความร่วมมือจากทั้งหน่วยงานภาครัฐ และบริษัทเอกชน ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ในการมีส่วนร่วมผลักดันการสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับประชาชน เพื่อเกิดการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัลอย่างถูกต้อง นำไปสู่ผลลัพธ์ในการส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล และขับเคลื่อนประเทศไทย 4.0 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ