ข่าวสาร
“ปราโมทย์ โชคศิริกุลชัย” รองประธานสภาดิจิทัลฯ ร่วมแสดงวิสัยทัศน์ในงาน “Traditional Music and the Digital Future” ขับเคลื่อนการสร้างสรรค์ Digital Content และ Digital Culture ด้วย “เทคโนโลยีดิจิทัล” สู่การสร้างงาน สร้างรายได้ เพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจและสังคมไทย
26 เม.ย. 2566

“ปราโมทย์ โชคศิริกุลชัย” รองประธานสภาดิจิทัลฯ ร่วมแสดงวิสัยทัศน์ในงาน “Traditional Music and the Digital Future” ขับเคลื่อนการสร้างสรรค์ Digital Content และ Digital Culture ด้วย “เทคโนโลยีดิจิทัล” สู่การสร้างงาน สร้างรายได้ เพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจและสังคมไทยในอนาคต


วันพุธที่ 26 เมษายน 2566, ณ พิพิธภัณฑ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยชั้น 1 กรุงเทพฯ - “สภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย” โดย “นายปราโมทย์ โชคศิริกุลชัย” รองประธานสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทยและประธานคณะกรรมการพันธกิจด้าน Digital Culture ร่วมเสวนาเรื่อง “Traditional Music and the Digital Future” ร่วมกับ “คุณกุลจิตร พรหมรา” สมาชิกแห่งอาณาจักรบริเทน (MBE) “อาจารย์บุญรัตน์ ศิริรัตนพันธ” อาจารย์ประจำวิทยาลัยดนตรี มหาวิทยาลัยรังสิต และ “อาจารย์ปวรินทร์ พิเกณฑ์” ผู้ก่อตั้ง SEATHENCITY โดยมี “ผศ.ดร.จิรยุทธ์ สินธุพันธุ์” อาจารย์ประจำสถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นผู้ดำเนินรายการ




“นายปราโมทย์ โชคศิริกุลชัย” รองประธานสภาดิจิทัลฯ ในฐานะที่อยู่ในแวดวงของการสร้างสรรค์ดิจิทัลคอนเทนต์ (Digital Content) ในประเทศไทยและต่างชาติมากว่า 30 ปี ได้กล่าวว่า “เทคโนโลยีดิจิทัล” เป็นสิ่งที่ช่วยให้คอนเทนต์ต่างๆ มีความงดงามมากขึ้น และสร้างสรรค์ได้ง่ายขึ้น โดยการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่อย่าง Metaverse มาใช้ประโยชน์ในการเป็นแพลตฟอร์มสร้างสรรค์ให้กับศิลปินไทย เพื่อนำเสนอการสร้างรายได้ในช่องทางใหม่ๆ ให้กับศิลปินได้ทั่วโลก อีกทั้งการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในการทำเพลงรูปแบบใหม่ๆ เช่น เพลงพื้นบ้าน เพลงลูกทุ่ง หรือเพลงลูกกรุง เพื่อให้เหมาะกับสมัยและกลุ่มคนรุ่นใหม่ เช่น รายการ The Golden Song นำเพลงลูกกรุงมาลงมาทำใหม่ในระบบดิจิทัล ส่งผลให้มีกลุ่มผู้ชมรุ่นผู้ใหญ่และรุ่นเด็กมามีส่วนร่วมเพิ่มมากขึ้น ช่วยอนุรักษ์เพลงลูกกรุงของไทยไปพร้อมกัน




เทคโนโลยีดิจิทัล และวัฒนธรรมดั้งเดิมนั้น สามารถเกื้อหนุนกันได้อย่างสร้างสรรค์และเสริมสร้างซึ่งกันและกัน ซึ่งการใช้ดิจิทัลมาช่วยสร้างสรรค์คอนเทนต์เปรียบเสมือนกับศิลปินยุคเก่ามาสร้างสรรค์บทเพลงร่วมกับศิลปินยุคปัจจุบัน เพื่อสร้างรายได้ในรูปแบบใหม่ๆ ดังนั้น การส่งเสริมจากภาครัฐจึงถือได้ว่าเป็นสิ่งสำคัญ โดยภาครัฐควรจะสนับสนุนเงินทุนก้อนแรกในการบุกเบิกการตลาดรูปแบบใหม่ๆ ในด้านวัฒนธรรมดิจิทัล (Digital Culture) อันเป็นการสร้างงาน สร้างรายได้ เพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจและสังคมได้ต่อไปในอนาคต “นายปราโมทย์ โชคศิริกุลชัย” รองประธานสภาดิจิทัลฯ กล่าว




ทั้งนี้ ผู้ร่วมเสวนาได้มีการแสดงความคิดเห็นต่อแนวคิดการเผยแพร่ดนตรีพื้นบ้านและการนำดิจิทัลมาพัฒนาดนตรีพื้นบ้านอาทิ การแนะนำกลองพื้นเมืองอินเดีย ความมหัศจรรย์ของจังหวะดนตรี และสาธิตการเล่นกลองตาบลาอิเล็กทรอนิค (e-tabla) การแชร์ประสบการณ์ในการวิจัยเรื่องกลองกบ ซึ่งเป็นกลองสำริดโบราณในพื้นที่สุวรรณภูมิ การสร้างสรรค์งานดนตรีด้วยเครื่องดนตรีพื้นบ้านของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยบันทึกเป็นรูปแบบดิจิทัล นอกจากนั้น ยังมีการเสนอแนวคิดถ่ายทอดความรู้เรื่องดนตรีสากล และผลิตดนตรีโดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัลแก่นักเรียนนักศึกษาดนตรีไทย ทำให้นักดนตรีไทยรุ่นใหม่มีทักษะที่จำเป็นต่อการตลาดและการพาณิชย์ของดนตรีไทยประยุกต์ในปัจจุบัน




สำหรับงานเสวนาเรื่อง “Traditional Music and the Digital Future” จัดโดย สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยการสนับสนุนของสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ร่วมกับ สำนักบริหารศิลปวัฒนธรรม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย มหาวิทยาลัยเอ็กเซทเทอร์และ ศูนย์สุวรรณภูมิศึกษา มหาวิทยาลัยรังสิต โดยเป็นหนึ่งในโครงการวิจัย “เอเชียในกระแสแห่งความพลิกผัน (ASEAN in the Disruptive Era)” จัดขึ้นเพื่อสำรวจแนวทางการสื่อสาร การส่งผ่านข้อมูล และการเผยแพร่ดนตรีพื้นบ้านรวมทั้งระดมความคิดเกี่ยวกับอนาคตของดนตรีพื้นบ้านในบริบทของการทำให้เป็นดิจิทัล