ข่าวสาร
สภาดิจิทัลฯ จับมือ กสทช. และ ITU จัดงาน “Girls in ICT Digital Skills for Life” เสริมสร้างศักยภาพสตรีทั่วโลกด้าน ICT และนวัตกรรมทางเทคโนโลยี หนุนทักษะดิจิทัลเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมไทย สอดรับเทรนด์โลกแห่งอนาคต
31 ก.ค. 2566

วันจันทร์ที่ 31 กรกฎาคม 2566 - “สภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย” โดย "ม.ร.ว.นงคราญ ชมพูนุท" รองประธานและประธานพันธกิจพัฒนาสังคมดิจิทัล ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) โดย “ศาสตราจารย์ ดร. พิรงรอง รามสูต” กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ และ สำนักงานพัฒนาโทรคมนาคมของสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ITU) โดย “Ms. Rury Demsey” ผู้เชี่ยวชาญจากสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ สำนักงานภูมิภาคสำหรับเอเชียและแปซิฟิก จัดงาน “Girls in ICT Digital Skills for Life” ในรูปแบบ Live ผ่านทาง Zoom Webinar เพื่อสร้างความตระหนักในการส่งเสริมและสนับสนุนเด็กหญิงและเยาวสตรีให้ความสนใจในการศึกษาและประกอบอาชีพด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) นอกจากนั้น ในส่วนของสภาดิจิทัลฯ ได้รับเกียรติจาก “นางเขมนรินทร์ รัตนาอัมพวัลย์” รองประธานและประธานพันธกิจพัฒนาศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ด้านดิจิทัล “นางสาวธิดารัธ ธนภรรคภวิน” รองประธานและประธานพันธกิจการกำหนดมาตรฐานและตัวชี้วัดด้านดิจิทัล และ “นางรชยา ลังกาทรง” กรรมการสภาดิจิทัลฯ ร่วมเสวนาหัวข้อ การเตรียมพร้อมเยาวชนหญิงให้มีทักษะดิจิทัลที่สำคัญ พร้อมด้วย “นางสาวอรมดี ปุรผาติ” กรรมการและปฏิคม และ “ด.ญ. พรปวีณ์ ม้วนหรีด” ทูตเยาวชนประเทศไทยคนแรก ของ Artemis Generation GISDA Thailand & NASA USA ร่วมแชร์ความคิดเห็นในความหลากหลายของเจเนอเรชันต่อการเรียนรู้ทักษะดิจิทัล โดยมี “ดร.อธิป อัศวานันท์” ผู้อำนวยการสภาดิจิทัลฯ ให้เกียรติเป็นผู้ดำเนินรายการ




“ศาสตราจารย์ ดร.พิรงรอง รามสูต” กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ให้เกียรติเป็นประธานกล่าวเปิดงาน โดยกล่าวว่า มีความยินดีที่ทุกภาคส่วนมีความตระหนักถึงความเหลื่อมล้ำดิจิทัลที่เกิดจากปัจจัยด้านเพศสภาพ (Gender) ซึ่งมีสถิติเรื่องการเข้าถึงและการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) ของเพศหญิง โดยเฉพาะเด็กผู้หญิง ที่มีความเหลื่อมล้ำอย่างชัดเจน รวมถึงความเหลื่อมล้ำด้านการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ คณิตศาสตร์ (STEM) และความอคติด้านวัฒนธรรม ทำให้เด็กผู้หญิง และผู้หญิงที่เติบโตขึ้นมาเข้าถึงการเรียนรู้ด้าน ICT น้อยกว่าผู้ชาย รวมไปถึงความเหลื่อมล้ำของเพศที่สาม ซึ่งตอนนี้ประเทศไทยกำลังเข้าสู่ยุคดิจิทัล ซึ่งเห็นถึงประโยชน์ของ ICT ว่าเป็นเครื่องมืออันทรงพลังที่จะยกระดับคุณภาพของประชาชนในทุกด้าน ทั้งด้านการศึกษา สุขภาพ เศรษฐกิจ และยังเป็นการสร้างความเปลี่ยนแปลงทางสังคม (Transformation) นำไปสู่การสร้างองค์ความรู้และทักษะที่จำเป็นในการดำรงชีวิต การทำงานที่ต้องอาศัยเทคโนโลยีดิจิทัลเพิ่มมากขึ้น อีกทั้งคนไทยต้องมีศักยภาพด้านนี้อย่างเพียงพอเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงจากทั่วโลก 




“สำนักงาน กสทช. มีบทบาทสำคัญในการสร้างการเข้าถึง ICT ผ่านโครงข่ายพื้นฐานต่างๆ อย่างมีประสิทธิภาพและมีความปลอดภัย ซึ่งมีความสำคัญเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในอนาคต โดยการจัดงานในครั้งนี้มีประโยชน์อย่างมาก ทำให้เยาวชนหญิงได้รับความรู้เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ ซึ่งเป็นการส่งเสริมทักษะด้านดิจิทัลครอบคลุมในทุกมิติ ส่งผลให้เกิดการพัฒนาได้ตลอดช่วงชีวิตของผู้หญิงทุกคน นอกจากนั้นยังแสดงให้เห็นถึงความสามารถของผู้หญิงในการก้าวข้ามอุปสรรคด้านต่างๆ และใช้ประโยชน์จาก ICT ได้อย่างเต็มที่ และหวังเป็นอย่างยิ่งว่างานในครั้งนี้จะเป็นเวทีสำคัญที่จะช่วยเสริมสร้างองค์ความรู้และมุมมองให้กับทุกภาคส่วน อีกทั้งสามารถร่วมบูรณาการเพื่อส่งเสริมด้าน ICT ของประเทศ โดยไม่มองข้ามเรื่องช่องว่างของเพศสภาพ พร้อมทั้งส่งเสริมให้เด็กไทยโดยเฉพาะเด็กผู้หญิงรุ่นใหม่มีทักษะจำเป็นด้านดิจิทัลที่ช่วยในเรื่องการเรียน การประกอบอาชีพ และการพัฒนาตนเองในทุกด้านให้ประสบความสำเร็จ และเป็นประโยชน์ต่อสังคมและประเทศชาติต่อไป”




"ม.ร.ว.นงคราญ ชมพูนุท" รองประธานสภาดิจิทัลฯ บรรยายในหัวข้อ การเสริมสร้างทักษะดิจิทัลเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัลในประเทศไทย โดยกล่าวว่า ทางสภาดิจิทัลฯ ได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาองค์ความรู้และการขับเคลื่อนทักษะ รวมถึงการใช้ประโยชน์ด้านเทคโนโลยีดิจิทัล ให้แก่เด็กผู้หญิงจนก้าวสู่การประกอบอาชีพ โดยปัจจุบันความท้าทายด้านเทคโนโลยีดิจิทัลนับว่าได้เข้ามามีบทบาทสำคัญในแทบทุกด้านของคนไทย ทั้งเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม ประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่ยุคเศรษฐกิจดิจิทัล โดยมีเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI ใหม่ๆ เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพที่จะปฏิวัติหลายๆ วงการ และเริ่ม disrupt บางอาชีพอย่างรวดเร็ว อย่างไรก็ตาม เราจึงต้องพัฒนาทักษะของบุคลากรให้สามารถใช้ประโยชน์ในการดำรงชีวิตและการประกอบอาชีพได้




“ทักษะดิจิทัลจำเป็นต้องวางรากฐานตั้งแต่ระดับเยาวชน นำไปสู่การเสริมสร้างทักษะดิจิทัลให้กับประชาชน ซึ่งมีความสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ เพิ่มโอกาสการทำงาน สร้างรายได้ ที่สำคัญทักษะดิจิทัลสำหรับผู้หญิงจะช่วยให้เกิดความเท่าเทียม ลดความเหลื่อมล้ำ และสร้างโอกาสประสบความสำเร็จในวิชาชีพ โดยต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน เพื่อผลักดันให้ผู้หญิงมีทักษะด้าน ICT สามารถแข่งขัน เตรียมพร้อมเข้าสู่ยุค 5.0” 








ปิดท้ายภาคเช้ากับเสวนาหัวข้อ “การเตรียมพร้อมเยาวชนหญิงให้มีทักษะดิจิทัลที่สำคัญ” โดย “นางเขมนรินทร์ รัตนาอัมพวัลย์” รองประธานและประธานพันธกิจพัฒนาศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ด้านดิจิทัล “นางสาวธิดารัธ ธนภรรคภวิน” รองประธานและประธานคณะกรรมการพันธกิจด้านการกำหนดมาตรฐานและตัวชี้วัดด้านดิจิทัล และ “นางรชยา ลังกาทรง” กรรมการสภาดิจิทัลฯ โดยได้กล่าวถึง สิ่งสำคัญในการเตรียมความพร้อมแก่เยาวชนหญิงให้มีทักษะดิจิทัล ได้แก่การเปิดกว้างในการให้ความรู้ การสร้างภูมิคุ้มกันให้แก่เยาวชน การสร้างความมั่นใจในการทำงานบนโลกออนไลน์ ตลอดจน ความสำคัญของหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ในการเป็นกลไกสนับสนุนและพัฒนาศักยภาพของเยาวชนไทยให้สามารถก้าวสู่ระดับแนวหน้าด้านเทคโนโลยีดิจิทัล














ภายในงานสัมมนา “Girls in ICT Digital Skills for Life” ภาคบ่าย ยังคงต่อเนื่องด้วยบรรยากาศที่เปิดโอกาสให้ผู้หญิงได้แสดงออกถึงแนวคิดในด้านความหลากหลายของการเรียนรู้ทักษะดิจิทัล ในหัวข้อ “XYZ 3 เจเนอเรชัน กับความหลากหลายการเรียนรู้ทักษะดิจิทัลแบบ Lifelong Learning” โดย “นางสาวอรมดี ปุรผาติ” กรรมการและปฏิคม “คุณอรนุช เลิศสุวรรณกิจ” CEO & Co-Founder of Techsauce และ “ด.ญ. พรปวีณ์ ม้วนหรีด” ทูตเยาวชนประเทศไทยคนแรก ของ Artemis Generation GISDA Thailand & NASA USA ที่ได้แลกเปลี่ยนมุมมองความแตกต่างเกี่ยวกับการเรียนรู้ทักษะด้านเทคโนโลยีดิจิทัลในแต่ละช่วงวัย เพื่อเสริมสร้างความเข้าใจและนำไปสู่การจัดการเรื่องการทำงานร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ














นอกจากนี้ ยังมีผู้นำหญิงจากวงการสตาร์ทอัพ ได้แก่ “ดร.กริชผกา บุญเฟื่อง” ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) “ผศ.ดร. ชนิตา ว่องวิริยะวงศ์” CEO and cofounder of EATLAB และ “นางสาวเมธาวี ทัศนาเสถียรกิจ” CEO บริษัท Vulcan Coalition มาแชร์ประสบการณ์ในหัวข้อ “SHE LOVES TECH ผู้หญิงแกร่งแห่งวงการเทคโนโลยี”












สำหรับงาน “Girls in ICT Digital Skills for Life” ที่จัดขึ้นในครั้งนี้ยังมีเสวนาที่น่าสนใจจาก “นางสาวจิดาภา นิติวีระกุล” เยาวชนพิการทางการเคลื่อนไหว ผู้ได้รับ 3 รางวัลในการแข่งขันความท้าทายทางเทคโนโลยีสารสนเทศระดับสากล ประจำปี 2562 “ด.ญ.กัญดาริน วงศ์เกษม” ผู้ชนะเลิศการแข่งขันหุ่นยนต์ AI คว้าโล่ชนะเลิศระดับโลก ในการแข่งขัน World Robot League 2022 และ “นางสาวธวัลรัตน์ พิริยเลิศศักดิ์” เยาวชนไทยคว้าแชมป์ Creative AI Camp By CP ALL ปี 3 ได้รับรางวัลจากแอปพลิเคชันเพื่อเด็กออทิสติก เยาวชนหญิงที่มาร่วมให้ความรู้เพื่อสร้างแรงบันดาลใจและถ่ายทอดประสบการณ์ที่ประสบความสำเร็จจากการเสริมสร้างทักษะดิจิทัลในหัวข้อ “พลังเยาวชนกับทักษะดิจิทัลเพื่อต่อยอดอาชีพในอนาคต”














ในช่วงท้ายของงานได้รับเกียรติจาก “Ms. Rury Demsey” ผู้เชี่ยวชาญจากสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ สำนักงานภูมิภาคสำหรับเอเชียและแปซิฟิก มาร่วมกล่าวปิดงาน โดยกล่าวว่า ขอแสดงความขอบคุณสภาดิจิทัลฯ และสำนักงาน กสทช. ที่ร่วมกันจัดงานสำคัญนี้ ซึ่งชี้ให้เห็นถึงความมุ่งมั่นในการส่งเสริมการเรียนรู้ด้าน ICT แก่ผู้หญิงและเยาวชนหญิงมาอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม จากสถิติการใช้อินเทอร์เน็ตปี 2022 พบว่ามีการใช้อินเทอร์เน็ตในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกคิดเป็น 64% แบ่งเป็นเพศชาย 67% และ เพศหญิง 61% โดยเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยทั่วโลกจะอยู่ที่ 66% ดังนั้น จะเห็นได้ว่ามีความท้าทายในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในด้านการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตที่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลก ดังนั้น ITU และพันธมิตรได้เล็งเห็นความสำคัญของการส่งเสริมการเข้าถึงเทคโนโลยีรวมถึงทักษะดิจิทัล จึงร่วมกันจัดงาน “Girls in ICT Digital Skills for Life” และจัดโปรแกรมการฝึกอบรมทักษะดิจิทัล โดยหวังเป็นอย่างยิ่งว่าเด็กทุกคนจากทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทยจะได้รับประโยชน์มากที่สุด และสิ่งสำคัญต้องขอขอบคุณผู้ปกครองที่สร้างแรงบันดาลใจและให้การสนับสนุนด้าน ICT และทักษะดิจิทัลแก่ผู้หญิงและเยาวชนไทยให้เติบโตก้าวสู่อนาคตไปด้วยกัน 






โครงการ Girls in ICT Day 2023 จัดขึ้นเพื่อส่งเสริมให้เด็กหญิงและสตรีสนใจการประกอบอาชีพด้าน ICT และการเรียนด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ และคณิตศาสตร์ (STEM) โดยสภาดิจิทัลฯ ร่วมสนับสนุนโครงการ Girls in ICT Day ของ ITU เป็นประจำต่อเนื่องทุกปี และได้จัดเสวนาเพื่อสร้างความตระหนักรู้แก่เด็กหญิงและสตรี เพื่อมุ่งเน้นให้มีทักษะด้านดิจิทัลและสามารถใช้งานอินเทอร์เน็ตได้อย่างปลอดภัย นอกจากนั้น การส่งเสริมการมีส่วนร่วมของเด็กหญิงและสตรีทั้งในด้านการศึกษาและอุตสาหกรรมด้าน ICT ถือเป็นเป้าหมายร่วมกันของทุกภาคส่วนในการยกระดับเด็กหญิงและสตรีเพื่อพัฒนาทักษะทางดิจิทัลและการเข้าถึงเทคโนโลยี สภาดิจิทัลฯ พร้อมที่จะทำงานร่วมกับทุกภาคส่วน เพื่อเชื่อมโยงการแบ่งแยกทางเพศ และพัฒนาดิจิทัลด้าน ICT ทั้งในประเทศและระดับภูมิภาคต่อไป 


ผู้สนใจสามารถรับชมงาน “Girls in ICT Digital Skills for Life” ย้อนหลังได้ที่

ช่วงเช้า  >> คลิก  

ช่วงบ่าย >> คลิก