ข่าวสาร
สภาดิจิทัลฯ ผนึกกำลัง ผู้นำองค์กรพันธมิตรภาครัฐ-เอกชนในระบบนิเวศ จัดงาน “DCT Startup Connect Episode 2” สร้างโอกาสจับคู่ธุรกิจสตาร์ทอัพกับภาคธุรกิจชั้นนำ เสริมแกร่งสตาร์ทอัพไทยสู่สากล ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศอย่างยั่งยืน
10 ส.ค. 2566

วันพฤหัสบดีที่ 10 สิงหาคม 2566, ณ True Digital Park West, Unicorn Building ชั้น 3, Workshop Zone กรุงเทพฯ - “สภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย” โดย “นายณัฐวุฒิ อมรวิวัฒน์” รองประธานและประธานคณะกรรมการพันธกิจด้าน Startups และ “ม.ร.ว. นงคราญ ชมพูนุท” รองประธานและประธานพันธกิจพัฒนาสังคมดิจิทัล ตลอดจน ที่ปรึกษาทรงคุณวุฒิ รองประธาน และคณะกรรมการสภาดิจิทัลฯ พร้อมด้วยผู้นำองค์กรพันธมิตรภาครัฐและภาคเอกชน ร่วมกันจัดงาน “DCT Startup Connect Episode 2” เพื่อสนับสนุนสตาร์ตอัป โดยความร่วมมือกันของพันธมิตรในระบบนิเวศ อันเป็นการส่งเสริมโอกาสสำหรับ Startup ได้พบปะภาคธุรกิจพันธมิตรในระบบนิเวศ 5 กลุ่มอุตสาหกรรม ได้แก่ Edtech, Tourism Tech, Smart industry & energy, Smart Quality of life & Social Enterprise และ Digital Content เพื่อเชื่อมต่อธุรกิจและเสริมสร้างความรู้เกี่ยวกับมาตรการส่งเสริม Startup และอุตสาหกรรมดิจิทัล ยกระดับธุรกิจสตาร์ทอัพไทยสู่สากล นำไปสู่การขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศอย่างยั่งยืน 


“นายณัฐวุฒิ อมรวิวัฒน์” รองประธานสภาดิจิทัลฯ กล่าวว่า งาน DCT Startup Connect เป็นการรวมตัวของกลุ่มสตาร์ทอัพ องค์กร และนักลงทุน โดยมีสภาดิจิทัลฯ เป็นตัวกลางเชื่อมโยงเพื่อให้ข้อมูลเชิงลึก และถาม ตอบ แชร์กับผู้เข้าร่วมงาน โดยมีการทำ Workshop และ Business Matching แบบ One on One เพื่อให้เกิด Real Case ทางธุรกิจ


“จากข้อมูลอันดับความสามารถในการแข่งขันด้านการลงทุนในเทคโนโลยีและ Startup พบว่า ประเทศไทยมีมูลค่าการลงทุนในประเทศอยู่ที่ 6% ของภูมิภาคอาเซียน ดังนั้น สภาดิจิทัลฯ และพันธมิตรจึงเปิดรับประเด็นและหาแนวทางแก้ไขร่วมกัน เพื่อผลักดันให้ลำดับของประเทศปรับเพิ่มขึ้น โดยสภาดิจิทัลฯ ได้บูรณาการความร่วมมือกับภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ในการขับเคลื่อนการปลดล็อกกฎหมายและนโยบายต่างๆ โดยมีการประกาศใช้มาตรการยกเว้นภาษี Capital Gains Tax เมื่อปีที่ผ่านมา ซึ่งต้องขอบคุณหน่วยงานรัฐที่ร่วมแก้ปัญหาให้ลุล่วง นอกจากนั้น ยังสะท้อนความสำเร็จได้จากการที่สื่อ Nikkei Asia ระบุว่าการที่ประเทศไทยมีมาตรการยกเว้นภาษี Capital Gains Tax ส่งผลให้มูลค่าการลงทุนใน Startup ไทยช่วงไตรมาสแรกของปี 2023 มีเงินลงทุนรวมกันถึงมากกว่า 530 ล้านดอลลาร์สหรัฐ”


"ม.ร.ว.นงคราญ ชมพูนุท" รองประธานสภาดิจิทัลฯ กล่าวว่า การพัฒนาสังคมดิจิทัลอย่างยั่งยืน เป็นอีกหนึ่งพันธกิจของสภาดิจิทัลฯ โดยมุ่งเน้นเรื่องการลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงดิจิทัล หรือเทคโนโลยี ICT สำหรับคนทุกกลุ่ม โดยทุกคนต้องมีความเสมอภาคและเท่าเทียมกันในการเข้าถึง ไม่ว่าจะเป็นชุมชนเมืองหรือชนบท ซึ่งสภาดิจิทัลฯ เล็งเห็นความสำคัญในเรื่องนี้ จึงมีการสนับสนุนให้มีการเข้าถึงอินเทอร์เน็ต รวมถึงองค์ความรู้ด้านดิจิทัลต่างๆ อย่างเท่าเทียม


“สภาดิจิทัลฯ ทำงานโดยยึดกรอบการพัฒนา ทางสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนของสหประชาชาติ โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง สำหรับส่วนที่เกี่ยวข้องกับ ICT ก็มีการกำหนดว่าต้องพัฒนาในส่วนต่างๆ เช่น การลดความยากจนโดยใช้ดิจิทัล การทำ Smart Farm ในภาคการเกษตร การทำ Mobile Learning การเข้าถึงเทคโนโลยีของทุกเพศทุกวัย การทำงานออนไลน์ การติดตามการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ เป็นต้น โดยในแต่ละกิจกรรมที่สภาดิจิทัลฯ ดำเนินการ มีการพัฒนาความร่วมมือกับภาคส่วนต่างๆ โดยมีการเชื่อมโยงไปสู่บริบทของสังคม อันนำไปสู่ Smart Quality of Life Institute ซึ่งจะทำเป็นต้นแบบและต่อยอดให้เกิดเป็นธุรกิจได้ต่อไปในอนาคต สุดท้ายอยากจะฝากไว้ว่า การพัฒนาสังคมดิจิทัล ต้องเกิดจากความร่วมมือกันของทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐและเอกชน จึงจะเป็น Smart Quality of Life Institute และต้องทำอย่างต่อเนื่องเพื่อก่อให้เกิดความยั่งยืน”


ทั้งนี้ ภายในงานช่วงเช้า ได้มีการจัดเสวนา “Global Investment Landscape” โดย "Mr.Peng T. Ong" Co-Founder and Managing Partner, Monk’s Hill Ventures ที่มาให้ข้อเสนอแนะถึงความได้เปรียบของประเทศไทยในการดึงดูด Tech Talent เช่น นักพัฒนาด้านไอที วิศวกรซอฟต์แวร์ และผู้เชี่ยวชาญ AI เป็นต้น ตลอดจนคำแนะนำที่จะทำให้ Startup เติบโตในประเทศไทยได้อย่างแข็งแกร่ง รวมถึง เสวนาการสนับสนุน Startup พร้อมรับฟัง Startup ที่จะมาแชร์ประสบการณ์การใช้สิทธิประโยชน์จากมาตรการการยกเว้น Capital Gains Tax ในหัวข้อ “การสนับสนุน Startup และ การรับรอง Startup ในมาตรการยกเว้น Capital Gains Tax และ Inspiration Talk : การระดมทุนให้สำเร็จ” โดย “ดร.ชินาวุธ ชินะประยูร” ผู้ช่วยผู้อำนวยการ กลุ่มงานส่งเสริมระบบนิเวศเศรษฐกิจดิจิทัล สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) และ “นายจิรยศ เทพพิพิธ” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อินโฟเฟด จำกัด 


รวมถึง “ผศ.ดร.ยุทธนา ศรีสวัสดิ์” นายกสมาคม Thai Startup และ Co-Founder iTAX ที่มาร่วมให้ความเห็นในมาตรการยกเว้น Capital Gain Tax ว่าสามารถกระตุ้นให้เกิดการลงทุนได้มากยิ่งขึ้น ดังนั้น Startup ไม่ควรลังเลที่จะสมัคร Capital Gains Tax เพราะอย่างน้อยมีเวลา 2 ปีที่ไม่ต้องเสียภาษี ยิ่งทำเร็วยิ่งได้สิทธิเร็ว รวมไปถึงการสมัครทำได้ง่ายและสะดวกอีกด้วย ทั้งนี้ หวังเป็นอย่างยิ่งว่ากฎหมายยกเว้น Capital Gains Tax ที่มีการประกาศใช้เมื่อปีที่ผ่านมา จะสามารถดึงดูดการลงทุนใน Startup ได้เพิ่มมากขึ้น


ภายในงาน DCT Startup Connect Episode 2 ช่วงบ่าย ยังอัดแน่นไปด้วยความรู้ส่งเสริมการลงทุนสำหรับ Startup ในหัวข้อ “มาตรการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ส่งเสริม Startup และอุตสาหกรรมดิจิทัล” โดย “นายประพันธ์ เจริญประวัติ” ผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ และ ผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ไลฟ์เอ็กซ์เช้นจ์ นอกจากนั้น ยังมีการจัดเสวนาหัวข้อ "โจทย์ทางธุรกิจของอุตสาหกรรม และ โอกาสผู้นําภาคธุรกิจไทยทํางานร่วมกับสตาร์ตอัปไทย" โดยผู้บริหารบริษัทชั้นนำของไทยทั้ง 5 กลุ่มอุตสาหกรรม ได้แก่ Edtech, Tourism Tech, Smart industry & energy, Smart Quality of life & Social Enterprise และ Digital Content ประกอบด้วย “นายนิธี สีแพร” รองผู้ว่าการด้านดิจิทัล วิจัยและพัฒนา การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย “นายสมเจตนา ภาสกานนท์” ผู้อำนวยการด้านพัฒนาความยั่งยืน สำนักบริหารความยั่งยืน ธรรมาภิบาล และสื่อสารองค์กร เครือเจริญโภคภัณฑ์ “นางสาวจันทนารักษ์ ถือแก้ว” MD of Disrupt Technology Venture & Disrupt Impact Fund “ดร.ปกรณ์ เทพรัตน์” ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานการลงทุน นวัตกรรมและความยั่งยืน บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) “คุณบุญเชิด  โพธิ์หมื่นทิพย์” รองผู้อำนวยการ สมาคมพัฒนาประชากรและชุมชน (PDA) “นางสาวพิชญ์สินี เปลี่ยนสมัย” ที่ปรึกษาด้านคลาวด์อาวุโส กลุ่มธุรกิจหัวเว่ยคลาวด์ ประเทศไทย และ “คุณกรพงศ์ นวลสนิท” ผู้จัดการช่องทางประเทศไทย Alibaba.com 


โดย “ดร.ปกรณ์ เทพรัตน์” ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานการลงทุน นวัตกรรมและความยั่งยืน บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) ผู้นำภาคธุรกิจ Smart Industry & Energy กล่าวว่า โจทย์ของประเทศไทยในเรื่องความยั่งยืน (Sustainability) มีเป้าหมายสำคัญคือการเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในปี 2050 และปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2065 โดยสิ่งสำคัญคือจะต้องขับเคลื่อนควบคู่ไปกับการดำเนินธุรกิจ เพื่อให้ตอบโจทย์ลูกค้าให้ได้มากที่สุด อย่างไรก็ตาม การนำเอาเทคโนโลยีดิจิทัลมาช่วยบริหารจัดการด้านข้อมูล ถือเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับผู้ประกอบการที่จะต้องเรียนรู้ในการปรับตัว เพื่อให้สามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะฉะนั้นโจทย์ของ Startup ในกลุ่มพลังงาน จึงต้องพิจารณาอุตสาหกรรมพลังงานใน 2 ส่วนใหญ่ ได้แก่ การใช้พลังงานระดับประเทศ และภาคอุตสาหกรรม ในเรื่องความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเทคโนโลยี


นอกจากนั้น ยังมี ห้อง Startup Clinic โดยทีมงานที่ปรึกษาจากสภาดิจิทัลฯ depa และ Innospace ที่มาร่วมให้คำแนะนำ Startup เกี่ยวกับมาตรการส่งเสริม Startup จากภาครัฐ และการลงทุนอย่างครบวงจร


สำหรับงาน “DCT Startup Connect Episode 2” ได้จัดขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นครั้งที่ 2 มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการรวมตัวของกลุ่ม Startup องค์กร และนักลงทุน โดยมีสภาดิจิทัลฯ เป็นตัวกลางเชื่อมโยง โดยมุ่งเน้นการส่งเสริมความรู้เชิงลึก และถาม ตอบ แชร์ แบบเชิงลึกกับผู้เข้าร่วมงาน ตลอดจนการทำ Workshop และ Business Matching ในรูปแบบ One-on-One ระหว่าง Startup กับภาคธุรกิจ เพื่อให้เกิดผลโดยตรงทางธุรกิจ Startup สามารถสร้างรายได้ เติบโตได้อย่างแข็งแกร่ง และก่อให้เกิดการลงทุนในอนาคต ภายในงานมีวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิจากภาครัฐ ผู้นำองค์กรธุรกิจ และ Startup ตลอดจนบุคคลทั่วไปให้ความสนใจเข้าร่วมอย่างคับคั่งกว่า 200 คน