ข่าวสาร
สภาดิจิทัลฯ นำทีมโดย “ศุภชัย เจียรวนนท์” จัดประชุมคณะกรรมการสภาฯ ครั้งที่ 5/2566 แนะแนวทางขับเคลื่อนประเทศไทยสู่การสร้างโอกาสที่เท่าเทียม ย้ำรัฐ-เอกชนเสริมศักยภาพเทคโนโลยีดิจิทัล หวังดันไทยเป็นศูนย์กลาง Tech Hub แห่งอาเซียน
16 ส.ค. 2566

วันพุธที่ 16 สิงหาคม 2566, อาคารสุทธิชั้น 4 ถนนเพชรบุรี กรุงเทพฯ - “สภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย” โดย “นายศุภชัย เจียรวนนท์” ประธานสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย พร้อมด้วย รองประธานและคณะกรรมการ ร่วมประชุมคณะกรรมการสภาฯ ครั้งที่ 5/2566 โดยมีวาระสำคัญประกอบด้วยการรายงานความคืบหน้ายุทธศาสตร์สภาดิจิทัลฯ เช่น ความคืบหน้าจากการไป Roadshow ที่สิงคโปร์ แนวโน้มการลงทุน Startup ไทย อัพเดทนโยบายส่งเสริมการลงทุน การใช้ประโยชน์มาตรการยกเว้นภาษี Capital Gains Tax การจัดทำคู่มือร่วมกับหน่วยงานภายนอก สรุปการดำเนินงานสภาดิจิทัลฯ เช่น DCT Workshop Brainstorm การจัดงาน DCT Startup Connect Episode 2 โครงการบุกตลาด Animation โดยความร่วมมือกับประเทศไต้หวัน และการจัดงาน Girls in ICT 2023 เป็นต้น


"นายศุภชัย เจียรวนนท์" ประธานสภาดิจิทัลฯ กล่าวถึง ภาพรวมของเศรษฐกิจและนโยบายของขั้วมหาอำนาจโลกที่ยังส่งผลให้เศรษฐกิจโลกอยู่ในภาวะถดถอย แต่ความน่าสนใจของเศรษฐกิจโลก นั่นคือ การพัฒนาของกลุ่มบริกส์ (BRICS) เป็นกลุ่มประเทศที่มีการพัฒนาทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว โดยประเทศในอาเซียนที่ถือเป็นกลไกหลักขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลก ได้แก่ จีน และอินเดีย หากมีการเกาะกลุ่มและเติบโตอย่างต่อเนื่อง จะส่งผลให้เศรษฐกิจโดยรวมของโลกเติบโตไปด้วยกัน


"นายศุภชัย” กล่าวถึงศักยภาพของประเทศไทยในการก้าวสู่ศูนย์กลางการลงทุนด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม (Tech Hub) ของภูมิภาคอาเซียน โดยประเทศไทยถือได้ว่าเป็นศูนย์กลางของ North South East Asia และมีนโยบายหลายประการที่ทำให้อยู่ในจุดที่ดี เช่น การเปิดรับนักท่องเที่ยวเร็ว ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย ไปจนถึงการพัฒนาด้านการดูแลสุขภาพ (Health Care) การเกษตร (Agro Industry) ที่มีการปรับตัวได้ดี เป็นอู่ข้าวอู่น้ำ นำไปสู่การเป็นประเทศที่มีความมั่นคงทางอาหารในระดับโลก


“นอกจากนั้น ประเทศไทยยังเป็นศูนย์กลางของโลจิสติกส์ (Logistic Hub) ที่เชื่อมต่อ ลาว เวียดนาม พม่า อินเดีย จีน และมาเลเซีย ศูนย์กลางทางการเงิน (Financial Hub) รวมถึงต้องมีการปรับเปลี่ยนหรือปฏิรูปการศึกษาให้เป็นศูนย์กลางการศึกษาในภูมิภาค (Education Hub) ตลอดจน การปฏิวัติอุตสาหกรรม (Industry Transformation) โดย SMEs สามารถปรับตัวได้ และหากพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ (Automotive Industry) ได้สำเร็จ ก็จะนำไปสู่การเป็น Tech Hub ของภูมิภาค ซึ่งจะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญให้แก่สมาชิกของสภาดิจิทัลฯ ในด้าน Software Hardware และ Digital Media ที่มีความเกี่ยวข้องกับ Digital Transformation นำไปสู่การผลักดันให้เศรษฐกิจไทยมีความแข็งแกร่งและมีศักยภาพในระดับโลก”


นายศุภชัย กล่าวเสริมในมิติการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทย ว่าสิ่งที่สภาดิจิทัลฯ ต้องขับเคลื่อนเพื่อแก้ไขปัญหาของระบบเศรษฐกิจและสังคม จะต้องเริ่มต้นจากการตระหนักถึงความเท่าเทียมและเสรีภาพ โดยบทบาทสำคัญของสภาดิจิทัลฯ คือการผลักดันเทคโนโลยี และ Digital Transformation โดยครอบคลุมทุนที่ขับเคลื่อนการเติบโตไปร่วมกัน (Inclusive Capital) ควบคู่ไปกับการผลักดันในเรื่องสื่อที่คนไทยบริโภค เช่น TV, Social Media และการผลิต Content โดยส่งเสริมให้เกิดคุณค่าทางศิลปะและวัฒนธรรมอย่างยั่งยืน 


กลไกขับเคลื่อนประเทศไทยเพื่อนำไปสู่การสร้างโอกาสที่เท่าเทียม มีปัจจัย 4 ประการ ได้แก่ 1) การศึกษา (Education) โดยส่งเสริมศักยภาพของคนควบคู่กับคุณธรรม นำไปสู่การสร้างคนที่มีคุณภาพ สามารถปรับตัวและอยู่ร่วมกันได้ 2) การเข้าถึงทุนและการเงิน รวมถึงความสามารถในการลงทุนและการออมของประชาชน ครอบคลุมผู้ประกอบธุรกิจ SMEs และธุรกิจขนาดเล็ก 3) การเข้าถึงโลกอินเตอร์เน็ตและเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ (Accessibility) เนื่องจาก คนไทยเข้าถึงเทคโนโลยีและโครงสร้างพื้นฐานเพียง 10% ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำ ดังนั้น สภาดิจิทัลฯ เล็งเห็นความสำคัญของการที่เด็กไทยทุกคนควรมีคอมพิวเตอร์ใช้ในการเรียน จึงผลักดัน ครม. รับทราบ “มาตรการเพื่อลดความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษา” เพื่อช่วยนักเรียนยากจนและยากจนพิเศษทั่วประเทศ 1.8 ล้านคนให้เข้าถึงอินเตอร์เน็ตและอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ และ 4) ประกันสังคม (Insurance & Social Security) โดยเห็นว่าชีวิตทุกคนมีความเจ็บป่วยเข้ามาเกี่ยวข้อง และเมื่อเกิด Disruption ทางเศรษฐกิจ ส่งผลให้คนปรับตัวไม่ทัน เกิดความเจ็บป่วย โดยเฉพาะผู้ที่เป็นหลักในการหารายได้ให้กับครอบครัว ดังนั้น ภาครัฐและเอกชนต้องร่วมกันส่งเสริมการดูแลด้านสุขภาพให้แก่ประชาชนอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม โดยทั้ง 4 ปัจจัยข้างต้นจะบรรลุได้ด้วย Digital Transformation และการกระจายทางเทคโนโลยี นำไปสู่การพัฒนาเป้าหมาย 5 ยุทธศาสตร์สภาดิจิทัลฯ ที่จะขับเคลื่อนเชิงนโยบายสาธารณะ (Public Policy) ในระดับประเทศต่อไป “นายศุภชัย” กล่าวในตอนท้าย