ข่าวสาร
สภาดิจิทัลฯ จับมือ ACIS จัดเสวนาออนไลน์ “Dark Sides of ChatGPT and How to Manage Them” เตรียมพร้อมองค์กรให้ปรับตัวสอดรับการเติบโตและเรียนรู้วิธีจัดการ Genertive AI ที่ถูกต้องและปลอดภัยเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงธุรกิจในยุคดิจิทัล
17 ส.ค. 2566

วันพฤหัสบดีที่ 17 สิงหาคม 2566 สภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย (DCT) โดย “นางเขมนรินทร์ รัตนาอัมพวัลย์” รองประธานสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย และประธานพันธกิจด้านการพัฒนาศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ด้านดิจิทัล และ “ดร.เมธวิน กิติคุณ” กรรมการสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย ร่วมกับ บริษัท เอซิส โปรเฟสชั่นนัล เซ็นเตอร์ จำกัด (ACIS) โดย “อาจารย์ ปริญญา หอมอเนก” Chairman of the executive committee ร่วมกันเสวนาออนไลน์ Online talk with Specialist ในหัวข้อ “Dark Sides of ChatGPT and How to Manage Them" โดยการเสวนาในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อให้เกิดตระหนักในการใช้งานทั้งการทำงานในองค์กรและชีวิตประจำวัน นำไปสู่การเรียนรู้ถึงวิธีจัดการให้เกิดประโยชน์สูงสุดโดยคำนึงถึงความถูกต้องและปลอดภัย ซึ่งมีประเด็นเสวนาที่น่าสนใจ ได้แก่ ข้อมูลเกี่ยวกับ “ChatGPT“ AI อัจฉริยะเทคโนโลยีใหม่แห่งยุค, GENERATIVE AI และ CHATGPT คืออะไร, ภัยคุกคามที่เกี่ยวข้องทั้งด้าน security และ privacy, ผลกระทบที่เกี่ยวข้องกับองค์กรและส่วนบุคคล และประเด็นที่เราต้องเตรียมตัวเพื่อรับมือกับ ChatGPT


“นางเขมนรินทร์ รัตนาอัมพวัลย์” รองประธานสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย และประธานพันธกิจด้านการพัฒนาศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ด้านดิจิทัล กล่าวถึงความสำคัญของ ChatGPT ในมุมของการจัดเสวนานี้ว่า ปัจจุบันการพัฒนาและการใช้งานของ AI และ ChatGPT ได้เข้ามามีบทบาทกับภาคอุตสาหกรรมอย่างมีนัยสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นภาคการศึกษาหรือการทำงาน  ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นประโยชน์และสามารถช่วยเราได้อย่างมาก แต่ก็ยังคงมีอีกด้านที่เป็น Dark Side ซึ่งเป็นแง่มุมที่เราควรต้องระมัดระวังในการใช้ด้วยเหมือนกัน ทางสภาดิจิทัลฯ ได้ให้ความสำคัญในเรื่องนี้มาโดยตลอดจึงร่วมมือกับทาง ACIS เพื่อให้ความรู้และสร้างความตระหนักในการใช้งานให้เกิดความปลอดภัยและใช้ประโยชน์ในทางที่ถูกต้องในทุกมิติ


“ดร.เมธวิน กิติคุณ” กรรมการสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การนำเอา Generative AI อย่าง ChatGPT มาใช้ ต้องมีการใส่ข้อมูลและป้อนคำสั่งเพื่อให้ AI ได้ประมวลผลออกมา โดยเฉพาะถ้าเป็นข้อมูลองค์กรยิ่งมีโอกาสรั่วไหลซึ่งถือเป็นภัยคุกคาม ทำให้เรื่อง Data Protection & Security เป็นเรื่องที่ต้องให้ความสำคัญ  และอีกหลายองค์กรมีการนำเทคโนโลยีมาครอบเพื่อตรวจสอบข้อมูลที่คนในองค์กรนำไปใช้หรือป้อนให้ AI ว่าจะทำให้เกิด PDPA หรือผลกระทบอย่างอื่นตามมา ดังนั้นสิ่งที่องค์กรต้องปรับตัวคือ ต้องรู้เท่าทัน Generative AI โดยควรทำความเข้าใจถึงโครงสร้างการทำงาน และอัพเดทสิ่งใหม่ๆ ที่ AI สามารถทำได้  อีกทั้งต้องติดตาม Platform ที่เราใช้อยู่ว่ามีการปรับปรุงทั้งด้าน Policy และ Privacy อย่างไรบ้าง การนำข้อมูลที่นำไปใช้ มีประโยชน์กับองค์กรของเราแค่ไหน  และที่สำคัญควรมีการให้ Feedback การใช้งาน Generative AI โดยมีภาครัฐเป็นตัวกลางในรวบรวมและกระจายข้อมูลนี้ให้กับองค์กรต่างๆ เพื่อเพิ่มความระมัดระวังการใช้งานให้มีความปลอดภัยยิ่งขึ้น” 


“อาจารย์ ปริญญา หอมอเนก”  Chairman of the executive committee กล่าวว่า แนวโน้มในอนาคต สิ่งที่จะเป็นเทรนด์ (Thriving in the Digital Age)  ภายใน 1-2 ปีนี้  คือ Privacy และ Security รวมถึง Digital Trust ในการนำ AI มาใช้ว่า มีความปลอดภัยพอหรือไม่ ใช้อย่างไรไม่ให้ละเมิดข้อมูลส่วนบุคคล ทำไมผู้บริหารองค์กรถึงต้องให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการความมั่นคงปลอดภัย และการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล  ซึ่ง Generative AI สามารถสร้างสิ่งใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อน ดังนั้นสิ่งที่อันตรายคือ การใช้งาน AI สามารถทำให้องค์กรเกิด Data Privacy Leak เสี่ยงต่อการทำให้ข้อมูลสำคัญรั่วไหลนอกจากนั้นยังอาจเกิด Data breach ที่เกิดจากการแฮก Account ของ ChatGPT ของเรา และดูข้อมูลที่เรากำลังคุยหรือทำอยู่ได้  ดังนั้น องค์กรจึงควรมีการอบรมเกี่ยวกับ PDPA ซึ่ง ACIS ได้พัฒนาหลักสูตรร่วมกับสภาดิจิทัลฯ โดยมีวิทยากรที่เป็น Certified DPO มาให้ความรู้เพื่อผู้อบรมจะได้บริหารจัดการเรื่องข้อมูลรั่วไหลในองค์กรได้ 


ทั้งนี้ สภาดิจิทัลฯ ยังได้ร่วมมือกับ ACIS ในการจัดอบรมหลักสูตร PDPA (PERSONAL DATA PROTECTION ACT) ที่ถือว่าเป็นหลักสูตรแรกของประเทศไทยสำหรับวุฒิบัตรในการเป็น DPO ซึ่งจะมีการอบรมในเนื้อหาที่น่าสนใจมากมาย อาทิ หลักสูตรการฝึกอบรมและสอบวุฒิบัตรตามกฎหมายไทย, มาตรฐานวิชาชีพมาตรฐานสากล ISO/IEC 17024, หลักสูตรที่ออกแบบเฉพาะเจ้าหน้าที่คุ้มครองข้อมูลและผู้ปฎิบัติตามพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล เป็นต้น โดยสามารถดูรายละเอียดหลักสูตรผ่านช่องทาง DCT FACEBOOK และ DCT WEBSITE ในเดือนกันยายน พ.ศ.2566 ต่อไป


รับชมเสวนาออนไลน์ย้อนหลังคลิก "Dark Sides of ChatGPT and How to Manage Them"