ข่าวสาร
สภาดิจิทัลฯ จับมือ กรมสรรพากร สวทช. ดีป้า เอ็นไอเอ และ ดิจิโอ สตาร์ทอัพฟินเทค จัดเวิร์กช๊อปออนไลน์ “หน้าที่และแนวปฏิบัติของนักลงทุนและ Startups ในการใช้สิทธิ์ยกเว้นภาษี Capital Gains Tax”
18 ส.ค. 2566

สภาดิจิทัลฯ จับมือ กรมสรรพากร สวทช. ดีป้า เอ็นไอเอ และ ดิจิโอ สตาร์ทอัพฟินเทค จัดเวิร์กช๊อปออนไลน์ “หน้าที่และแนวปฏิบัติของนักลงทุนและ Startups ในการใช้สิทธิ์ยกเว้นภาษี Capital Gains Tax” แนะโอกาส Startup ใช้สิทธิส่งเสริมการลงทุน หนุน Startup ไทย เติบโตอย่างแข็งแกร่งและยั่งยืน


วันศุกร์ที่ 18 สิงหาคม 2566 - “สภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย” โดย “นายณัฐวุฒิ อมรวิวัฒน์” รองประธานสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทยและประธานคณะกรรมการพันธกิจด้าน Startups ร่วมกับ “กรมสรรพากร” โดย “นายอัครราชย์ บุญญาศิริ” หัวหน้ากลุ่มนโยบายภาษี กรมสรรพากร “สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)” โดย “นางสาวสุฑามาศ ขจีรัมย์” นักวิเคราะห์งานสนับสนุนการวิจัย พัฒนาและวิศวกรรมภาคเอกชน สวทช. “สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa)” โดย “นายณัฐภัทร อาศัยผล” นักส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล “สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA)” โดย “นางสาวสลิลเกตน์ เกียรติระบิล” นักส่งเสริมนวัตกรรม NIA จัดงานสัมมนาออนไลน์ หัวข้อ “หน้าที่และแนวปฏิบัติของนักลงทุนและ Startups ในการใช้สิทธิ์ยกเว้นภาษี Capital Gains Tax” เพื่อให้ความรู้แก่คณะกรรมการ สมาชิกสภาดิจิทัลฯ และผู้ประกอบการธุรกิจ Startups ในประเด็นหน้าที่ และแนวปฏิบัติของนักลงทุน และ Startups ที่เกี่ยวข้องกับกรมสรรพากร แนวทางการขอรับรอง Startup ของ สวทช. depa และ NIA รวมทั้ง “บริษัท ดิจิโอ (ประเทศไทย) จำกัด” โดย “นายนพพร ด่านชัยนาม” กรรมการผู้จัดการ บริษัท ดิจิโอ (ประเทศไทย) จำกัด มาร่วมแชร์ประสบการณ์การระดมทุนสำเร็จและได้รับประโยชน์จากมาตรการยกเว้น Capital Gains Tax 




“นายณัฐวุฒิ อมรวิวัฒน์” รองประธานสภาดิจิทัลฯ กล่าวว่า ในวันนี้ถือเป็นโอกาสอันดีที่ทางสภาดิจิทัลฯ ร่วมกับกรมสรรพากร สวทช. depa และ NIA จัดงานเวิร์กช็อป หัวข้อ “แนวปฏิบัติสำหรับการยกเว้น Capital Gains Tax สำหรับผู้ลงทุนใน Startups” ซึ่งนโยบายการยกเว้น Capital Gains Tax ถือเป็นนโยบายสำคัญในการดึงเงินลงทุนเข้ามาใน Startup โดยเงินลงทุนเป็นสิ่งสำคัญต่อ Startup โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระยะเริ่มต้น (Early Stage) ซึ่งมีความยากในการดึงนักลงทุนเข้ามาสนับสนุนเงินลงทุนในธุรกิจตั้งแต่ระยะแรกจนเริ่มสร้างรายได้ และมีโอกาสที่จะเติบโตและขยายธุรกิจต่อไปในอนาคต 




“ในวันนี้ถือเป็นโอกาสอันดีที่หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับการปลดล็อกนโยบายยกเว้น Capital Gains Tax สำหรับผู้ลงทุนใน Startups ได้แก่ กรมสรรพากร สวทช. depa และ NIA ได้มาร่วมให้ความรู้ในเรื่องหน้าที่และแนวปฏิบัติของนักลงทุนและ Startups ในการใช้สิทธิ์ยกเว้นภาษี Capital Gains Tax ตลอดจน บริษัท ดิจิโอ (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท Startup ที่มาร่วมแบ่งปันประสบการณ์การใช้สิทธิประโยชน์จากการใช้นโยบายยกเว้น Capital Gains Tax จึงขอขอบคุณวิทยากรทุกท่าน โดยหวังเป็นอย่างยิ่งว่างานสัมมนาในครั้งนี้ จะเป็นประโยชน์สูงสุดแก่ Startups และนักลงทุนต่อไป” 






“นายอัครราชย์ บุญญาศิริ” หัวหน้ากลุ่มนโยบายภาษี กรมสรรพากร กล่าวว่า ก่อนอื่นต้องขอขอบคุณสภาดิจิทัลฯ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ที่วันนี้ได้ร่วมกันจัดบรรยายให้ความรู้แก่นักลงทุนรวมทั้ง Startup ในส่วนของมาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการระดมทุนใน Startup ของกรมสรรพากร โดยมาตรการภาษีนี้มีการบังคับใช้ตั้งแต่ปีที่แล้ว มีการตราพระราชกฤษฎีกาฉบับที่ 750 พ.ศ 2565 โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2565 ที่ผ่านมา โดยมาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการระดมทุนใน Startup เป็นการยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับกำไร หรือ Capital Gains Tax จากการขายหุ้นของ Startup ซึ่งมีกลุ่มเป้าหมายคือนักลงทุนใน Startup ทุกกลุ่ม โดยเนื้อหาในวันนี้จะมุ่งเน้นในเรื่องขั้นตอนการใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษี เพื่อให้ Startup และ นักลงทุนได้ทราบขั้นตอนการดำเนินการขอใช้สิทธิประโยชน์ต่อไป






“นางสาวสุฑามาศ ขจีรัมย์” นักวิเคราะห์งานสนับสนุนการวิจัย พัฒนาและวิศวกรรมภาคเอกชน สวทช. กล่าวว่า แนวทางการขอรับรองกิจการที่รัฐต้องการสนับสนุนตามพรฎ. 750 ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร เพื่อส่งเสริมการลงทุนในบริษัทเป้าหมายตามแนวทางของสวทช. จะประกอบด้วยหัวข้อหลักๆ แบ่งเป็น 3 ส่วน ได้แก่ 1) ผู้ที่ได้รับสิทธิ สิทธิประโยชน์ และคุณสมบัติของผู้ที่จะขอรับรอง 2) ตัวอย่างกิจการและ 3) กระบวนการและขั้นตอนในการขอรับรองจาก สวทช. 






“นายณัฐภัทร อาศัยผล” นักส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล กล่าวว่า การสนับสนุน Startup ของ depa จะเจาะลึกไปที่การทำอย่างไรให้สามารถดึงดูดนักลงทุนเข้ามาลงทุนใน Startup ในประเทศไทยให้ได้ โดยสิ่งหนึ่งที่มีความสำคัญก็คือ การได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีแก่ผู้ลงทุนที่เข้ามาลงทุนจากต่างประเทศเข้ามาในประเทศไทย หรือ Capital Gains Tax โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มโอกาส Digital Startup ไทย โดยสิทธิประโยชน์ทางภาษีต่อยอดวิสาหกิจดิจิทัลเริ่มต้น Startup ของไทยสู่การระดมทุนระดับโลก 






“นางสาวสลิลเกตน์ เกียรติระบิล” นักส่งเสริมนวัตกรรม NIA กล่าวว่า แนวทางการรับรองบริษัทเป้าหมายซึ่งประกอบกิจการที่รัฐต้องการสนับสนุนจะต้องมีการพัฒนาหรือประยุกต์ใช้เทคโนโลยีหรือรังสรรค์นวัตกรรมเป็นส่วนสำคัญในการดำเนินกิจการ และต้องอยู่ใน 14 อุตสาหกรรมที่คณะกรรมการนโยบายเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศสำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมายประกาศกำหนด โดยมีขั้นตอนการยื่นขอรับรองประกอบด้วย การส่งเอกสารพร้อมชำระค่าธรรมเนียม การตรวจสอบความครบถ้วนและพิจารณาเอกสารการขอรับรอง และ สำนักงานประกาศรายชื่อบริษัทเป้าหมายที่ได้รับการรับรอง 




“นายนพพร ด่านชัยนาม” กรรมการผู้จัดการ บริษัท ดิจิโอ (ประเทศไทย) จำกัด มาร่วมแชร์ประสบการณ์การระดมทุนสำเร็จและได้รับประโยชน์จากมาตรการยกเว้น Capital Gains Tax ว่า เริ่มมาจากทางบริษัทมีการระดมทุน จึงสมัครเข้าร่วมโครงการใช้มาตรการยกเว้น Capital Gains Tax โดยขึ้นทะเบียนในการเป็นบริษัทที่อยู่ในอุตสาหกรรมเป้าหมายที่ภาครัฐให้การสนับสนุนกับทาง depa ซึ่งมีกระบวนการสมัครที่ใช้เวลาไม่นาน เพียงหลังจากนั้นภายใน 1 เดือนก็ได้รับการแจ้งกลับว่า ได้รับสิทธิในการขึ้นทะเบียน ซึ่งถือว่าใช้ระยะเวลาที่รวดเร็วเป็นอย่างมาก




นอกจากนั้น ภายในงานยังมีช่วงแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นและตอบประเด็นข้อซักถาม เช่น ความแตกต่างของการขึ้นทะเบียนกับแต่ละหน่วยงาน รายละเอียดการใช้สิทธิกับการหักภาษี ณ ที่จ่าย เป็นต้น โดยมีผู้สนใจเข้าร่วมรับฟังทั้งช่องทาง Zoom Webinar และ DCT Facebook กว่า 200 ราย


ทั้งนี้ ผู้สนใจสามารถรับชมย้อนหลังคลิก >> เวิร์กช๊อปออนไลน์หัวข้อ “หน้าที่และแนวปฏิบัติของนักลงทุนและ Startups ในการใช้สิทธิ์ยกเว้นภาษี Capital Gains Tax”