ข่าวสาร
“สภาดิจิทัลฯ” จัดประชุมออนไลน์คณะกรรมการ ถกข้อคิดเห็นต่อ (ร่าง) กรอบนิยามอุตสาหกรรมดิจิทัลของประเทศไทย ขับเคลื่อนมูลค่าอุตสาหกรรมดิจิทัลอย่างเป็นระบบและ เป็นไปตามมาตรฐานสากล
5 ก.ย. 2566

วันอังคารที่ 5 กันยายน 2566 ที่ผ่านมา “คณะกรรมการสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย” ร่วมกันประชุมออนไลน์พร้อมทั้งรับฟังความคิดเห็นต่อ (ร่าง) กรอบนิยามอุตสาหกรรมดิจิทัลของประเทศ เพื่อเป็นกรอบให้แต่ละหน่วยงานสำรวจ รวบรวมข้อมูล และวัดมูลค่าของอุตสาหกรรมดิจิทัลเป็นไปอย่างระบบและมีประสิทธิภาพ โดยมีประเด็นหารือ ประกอบด้วย นิยาม 6 อุตสาหกรรมดิจิทัลย่อย และการจัดประเภทมาตรฐานอุตสาหกรรมประเทศไทย (TSIC) ตามกลุ่มอุตสาหกรรมดิจิทัลย่อย โดยสภาดิจิทัลฯ จะรวบรวมความคิดเห็นและข้อเสนอแนะเสนอต่อสำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.) เพื่อเป็นแนวทางจัดทำข้อมูลอุตสาหกรรมดิจิทัล อันก่อให้เกิดประโยชน์ต่อเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทยเป็นส่วนรวมต่อไป


ประเทศไทยมีหน่วยงานภาครัฐหลายหน่วยงานในการเก็บข้อมูลอุตสาหกรรมดิจิทัล ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.) คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ETDA) และ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) (CEA) จึงส่งผลกระทบต่อการเปรียบเทียบข้อมูล เกิดความซับซ้อนในการเก็บข้อมูล และมีนิยามที่มีความหลากหลายตามวัตถุประสงค์ของหน่วยงาน ดังนั้นจึงนำไปสู่การจัดทำ (ร่าง) กรอบนิยามอุตสาหกรรมดิจิทัลของประเทศขึ้น เพื่อให้มีการกำหนดขอบเขตคำนิยามอุตสาหกรรมดิจิทัลแบบเดียวกัน เป็นประโยชน์ในการเปรียบเทียบ และลดการซ้ำซ้อนในการเก็บข้อมูล อีกทั้งเพื่อให้ประเทศมีชุดข้อมูลด้านอุตสาหกรรมดิจิทัลที่เป็นไปตามมาตรฐานสากล


ทั้งนี้ คณะกรรมการสภาดิจิทัลฯ ได้แสดงความคิดเห็นต่อ (ร่าง) กรอบนิยามอุตสาหกรรมดิจิทัลของประเทศ ในประเด็นต่างๆ เช่น 1) การนิยามและตีความอุตสาหกรรมอุปกรณ์อัจฉริยะ (Smart Device) 2) การวิเคราะห์รูปแบบระหว่าง Digital Service และ Consumer Service 3) การขอข้อมูลนิยามกลุ่มอุตสาหกรรม Software เพิ่มเติม เพื่อวิเคราะห์นิยามให้มีความครอบคลุมเพิ่มมากขึ้น 4) ความแตกต่างระหว่างอุตสาหกรรมการสื่อสาร ในส่วนของบริการเนื้อหาผ่านโครงข่ายอินเทอร์เน็ต (Over the Top: OTT) และ Digital Service และ 5) การกำหนดนิยามให้เชื่อมโยงสู่การนำเข้า-ส่งออกสินค้าให้ครอบคลุมการค้าระหว่างประเทศ (International Trade) เป็นต้น