ข่าวสาร
“สภาดิจิทัลฯ” จับมือ “บพข.” “สกสว.” และ “สถาบันวิศวกรรมปัญญาประดิษฐ์” จัดงาน Thailand Digital Competitiveness Forum 2023 หนุนโอกาสต่อยอดธุรกิจด้วย AI กับ เครือข่ายมหาวิทยาลัยและหน่วยงานต่างๆ ดันศักยภาพอุตสาหกรรมดิจิทัล ยกระดับขีดความสามารถสู่สากล
18 ก.ย. 2566

“สภาดิจิทัลฯ” จับมือ “บพข.” “สกสว.” และ “สถาบันวิศวกรรมปัญญาประดิษฐ์” จัดงาน Thailand Digital Competitiveness Forum 2023 หนุนโอกาสต่อยอดธุรกิจด้วย AI กับ เครือข่ายมหาวิทยาลัยและหน่วยงานต่างๆ ดันศักยภาพอุตสาหกรรมดิจิทัล ยกระดับขีดความสามารถการแข่งขันไทยสู่สากล


วันจันทร์ที่ 18 กันยายน 2566, อาคารสุทธิชั้น 4 ถนนเพชรบุรี กรุงเทพฯ - “สภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย (สภาดิจิทัลฯ)” โดย “ดร.วีระ วีระกุล” รองประธานสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย และประธานพันธกิจด้านการเป็นศูนย์กลางนวัตกรรมของภูมิภาคร่วมกับ “หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.)” โดย “รศ.ดร.ธงชัย สุวรรณสิชณน์” ผู้อำนวยการหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) พร้อมด้วย “สถาบันวิศวกรรมปัญญาประดิษฐ์ (AIE)” โดย “ดร.อักฤทธิ์ สังข์เพ็ชร” ผู้อำนวยการสถาบันวิศวกรรมปัญญาประดิษฐ์ และ “สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.)” จัดงาน “Thailand Digital Competitiveness Forum 2023” เพื่อสร้างโอกาสแก่นักวิจัยจากเครือข่ายสถาบันวิศวกรรมปัญญาประดิษฐ์ และนักวิจัยที่ได้รับทุนจากบพข. ได้แก่ มหาวิทยาลัยซีเอ็มเคแอล สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรีมหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และมหาวิทยาลัยขอนแก่นรวมถึงหน่วยงาน สวทช. สมาคมผู้ประกอบการปัญญาประดิษฐ์ประเทศไทยมานำเสนองานวิจัยและนวัตกรรมให้กับเครือข่ายสมาชิกของสภาดิจิทัลฯ เพื่อสร้างความร่วมมือ สร้างโอกาสในการต่อยอดงานวิจัยและการร่วมลงทุน รวมทั้งต่อยอดความร่วมมือไปสู่การจัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศ หรือ Center of Excellence (CoE) ด้าน AI ซึ่งจะช่วยยกระดับขีดความสามารถการแข่งขันของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมดิจิทัลไทย นำไปสู่การเป็นศูนย์กลางนวัตกรรมของภูมิภาคต่อไป


“ดร.วีระ วีระกุล” รองประธานสภาดิจิทัลฯ กล่าวว่า สิ่งสำคัญที่จะส่งเสริมขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศไทย คือการต่อยอดทุนปัญญาให้เกิดประโยชน์กับประชาชน และเป็นผลผลิตมวลรวมของประเทศ โดย AI ถือได้ว่ามีความพร้อมในการแข่งขัน ถึงแม้ประเทศไทยอาจจะมีข้อจำกัดในการลงทุน แต่ยังสามารถแข่งขันได้ เพราะมีการต่อยอดทุนปัญญาอย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนั้น สิ่งสำคัญคือการบูรณาการความร่วมมือระหว่างภาครัฐ และภาคเอกชน โดยมีเป้าหมายหลักในระดับประเทศ ทั้งนี้ สภาดิจิทัลฯ มุ่งมั่นจะเป็นตัวกลางในการเชื่อมโยง และทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐบาล ภาคเอกชน และภาคการศึกษา นำไปสู่การขับเคลื่อน AI ให้เป็นวาระแห่งชาติ เพื่อก่อให้เกิดระบบนิเวศอย่างเป็นรูปธรรมและจับต้องได้ ซึ่งในวันนี้จะเป็นเวทีเปิด เพื่อสร้างโอกาสให้แก่งานวิจัยและพัฒนา นำไปสู่กระบวนการผลักดันทุนวิจัย ที่ธุรกิจสามารถสร้างรายได้และกลับมาลงทุนในงานวิจัยต่อไป สภาดิจิทัลฯ จึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่า การร่วมมือกันในวันนี้จะสามารถยกระดับศักยภาพการแข่งขันของประเทศไทยสู่เวทีโลก


“รศ.ดร.ธงชัย สุวรรณสิชณน์” ผู้อำนวยการ บพข. กล่าวว่า ภารกิจสำคัญของ บพข. คือการ Connect กับสภาดิจิทัลฯ และเครือข่ายต่างๆ เพื่อขับเคลื่อนประเทศให้มีความสามารถในการแข่งขัน โดยจำเป็นต้องขับเคลื่อนการทำงาน อาศัยองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ การวิจัย และนวัตกรรม และทำให้เกิด Collaboration ร่วมกันขับเคลื่อนผู้ประกอบการ และ สตาร์ตอัป ให้มีความสามารถในการแข่งขันในระดับสากล นอกจากนั้น สิ่งสำคัญอีกประการคือการ Create ทำให้เกิดนวัตกรรมใหม่ๆ และทำให้เทคโนโลยีดิจิทัลเป็นนวัตกรรมเชิงพาณิชย์ และเป็นสาธารณประโยชน์สำหรับประเทศ และ Catalyst การเร่งให้เกิดนวัตกรรมไปสู่การใช้ประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรม โดยหวังเป็นอย่างยิ่งว่า การทำงานร่วมกันในวันนี้จะนำไปสู่เป้าหมายในการขับเคลื่อนการแข่งขันด้านดิจิทัล ก่อให้เกิด Digital Transformation โดยเฉพาะอุตสาหกรรมสุขภาพและการแพทย์ การเกษตรและอาหาร ยานยนต์ไฟฟ้าและยานยนต์อัตโนมัติ และการท่องเที่ยว ซึ่งถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นในการทำงานร่วมกับทุกภาคส่วน ในการสนับสนุนการวิจัยและพัฒนา นำไปสู่การลงทุนต่อไปในอนาคต


“ดร.ณวัตน์ คำนูณวัฒน์” ผู้ดูแลโครงการพันธกิจศูนย์กลางนวัตกรรมระดับภูมิภาค สภาดิจิทัลฯกล่าวแนะนำสภาดิจิทัลฯ ว่าเป็นองค์กรสำคัญในการทำงานร่วมกับภาคเอกชน รัฐบาล และภาคประชาชน โดยขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ใน 5 ด้าน ได้แก่ 1) การกำหนดมาตรฐานและตัวชี้วัดด้านดิจิทัล 2) การสร้างความร่วมมือภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน 3) การพัฒนาศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ด้านดิจิทัล 4) การพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล และ 5) การเป็นศูนย์กลางนวัตกรรมของภูมิภาค รวมทั้งการขับเคลื่อนด้านสังคมและวัฒนธรรมดิจิทัลของประเทศชาตินำไปสู่การเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันด้านดิจิทัล ทั้งนี้ สภาดิจิทัลฯ เห็นถึงความสำคัญของนวัตกรรม AI ซึ่งเป็นหนึ่งในเทคโนโลยีที่จะสร้างอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจใหม่จึงมุ่งหวังให้เกิดการสร้างความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และมหาวิทยาลัยอย่างยั่งยืน เพื่อต่อยอดให้เกิดการวิจัยที่มีประสิทธิภาพต่อไป


ด้าน “ผศ.ดร.วรรณรัช สันติอมรทัต” ประธานอนุกรรมการแผนงานกลุ่มดิจิทัลแพลตฟอร์ม บพข. กล่าวว่า งานหลักของ บพข. คือการมุ่งเน้นสร้างรายได้ สนับสนุนทุนเพื่อทำให้งานวิจัยเกิดมูลค่าและสามารถนำไปใช้งานในเชิงพาณิชย์ได้ สำหรับแนวคิดในการทำงานของแผนงานดิจิทัล บพข. มีการตั้งเป้าที่จะนำเอา Ecosystem ไปสู่ Global เนื่องจากเรามองว่างานด้านดิจิทัลนั้นมีตลาดที่กว้างมาก ซึ่งปัจจัยสำคัญในการผลักดันไปสู่ Global นั่นคือ บพข. ได้มุ่งเน้นสนับสนุนทุนในการวิจัยพัฒนากลุ่ม Smart devices, AI – Algorithms, หุ่นยนต์, ระบบอัตโนมัติ และการพัฒนาแพลตฟอร์มการให้บริการทางด้านดิจิทัลเป็นหลัก


ทั้งนี้ ภายในงานมีการนำเสนองานวิจัยและนวัตกรรมด้านปัญญาประดิษฐ์จากเครือข่ายศูนย์ความเป็นเลิศด้าน AI ครอบคลุม 5 กลุ่มเทคโนโลยี AI ประกอบด้วย


1) Agriculture & Food ได้แก่ Sugarcane Portal Platform แพลตฟอร์มดิจิทัล ปัญญาประดิษฐ์ และคลังข้อมูลสนับสนุนการบริหารจัดการอ้อยและ DroneBox แพลตฟอร์มประมวลผลภาพโดรนผ่านระบบคลาวด์


2) Healthcare & Precision Medicine ได้แก่ แพลตฟอร์ม กิน อยู่ ดี แพลตฟอร์มทางด้านสุขภาพและการแพทย์แบบครบวงจร, Federated AI ระบบปัญญาประดิษฐ์แบบอัตโนมัติสำหรับรูปภาพทางการแพทย์และ Drug Discoveryแพลตฟอร์มปัญญาประดิษฐ์สำหรับการคิดค้นและค้นหายาใหม่ พร้อมฐานข้อมูลด้านสมุนไพรและสารเคมี


3) Technology and Infrastructure ได้แก่ APEX GPU Cloud Platform แพลตฟอร์มและสถาปัตยกรรมข้อมูลระบบปัญญาประดิษฐ์, Security and Safety Platform in Smart City แพลตฟอร์มสำหรับการประยุกต์ใช้งานด้าน Public Safety


4) Robotic and Automation ได้แก่ FIBOLab ระบบบูรณาการสมบูรณ์สำหรับการทำความสะอาดสำหรับการผลิตไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์ด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลและ CIRA Core แพลตฟอร์มปัญญาประดิษฐ์ สำหรับการนำไปใช้ในภาคอุตสาหกรรม เช่น การพัฒนาโมดูล Deep Learning เป็นต้น


5) Digital Services ได้แก่ แพลตฟอร์มการรู้จำเสียงพูด ระบบรู้จำเสียงพูดที่สามารถถอดความเสียงพูดโดยไม่จำกัดผู้พูดและไม่จำกัดเนื้อหาและ OpenThaiGPT โมเดล Chat ภาษาไทยแบบ Large Language Models (LLMs) และฐานข้อมูลการตอบคำถามภาษาไทยที่มีคุณภาพสูง