ข่าวสาร
“สภาดิจิทัลฯ” จับมือ “EF Education First” จัดงานสัมมนาออนไลน์ English for Digitalization หนุนโอกาสการเรียนรู้ภาษาอังกฤษ สู่การขับเคลื่อนทักษะและกำลังคนดิจิทัลอย่างมีประสิทธิภาพ ยกระดับขีดความสามารถการแข่งขันไทยในเวทีโลก
3 ต.ค. 2566

วันอังคารที่ 3 ตุลาคม 2566 - “สภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย” โดย “นางสาวอรมดี ปุรผาติ” กรรมการและปฏิคม สภาดิจิทัลฯ ร่วมกับ “EF Education First” โดย “Deborah Garcia Diaz” อาจารย์จากสถาบัน EF Education First จัดงาน “English for Digitalization” เพื่อส่งเสริมความรู้ ความเข้าใจ และ สร้างความตระหนักรู้ถึงความสำคัญของภาษาอังกฤษในการขับเคลื่อนการพัฒนาทักษะและกำลังคนด้านดิจิทัล เนื่องจากภาษาอังกฤษเป็นสื่อกลางสำคัญในการสื่อสารทั่วโลก ดังนั้น การเข้าถึงความรู้ด้านภาษาอังกฤษและดิจิทัลอย่างมีประสิทธิภาพ จะเป็นกลไกสู่ความสำเร็จทั้งในองค์กรและระดับโลก และนำไปสู่การยกระดับขีดความสามารถทางการแข่งขันของประเทศต่อไป 


“นางสาวอรมดี ปุรผาติ” กรรมการและปฏิคม สภาดิจิทัลฯ กล่าวว่า สภาดิจิทัลฯ จัดตั้งขึ้นภายใต้พระราชบัญญัติสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2562 เพื่อทำหน้าที่เป็นองค์กรสำคัญที่ทำงานร่วมกับภาคเอกชน ภาครัฐ และภาคประชาชน ซึ่งนำไปสู่การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางดิจิทัล การพัฒนาบุคลากรด้านดิจิทัล เพื่อการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน โดยขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ใน 5 ด้าน ได้แก่ 1) การกำหนดมาตรฐานและตัวชี้วัดด้านดิจิทัล 2) การสร้างความร่วมมือภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน 3) การพัฒนาศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ด้านดิจิทัล 4) การพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล และ 5) การเป็นศูนย์กลางนวัตกรรมของภูมิภาค รวมทั้งการขับเคลื่อนด้านสังคมและวัฒนธรรมดิจิทัลของประเทศชาตินำไปสู่การเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันด้านดิจิทัล


“ในโลกที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล ภาษาอังกฤษถือได้ว่าเป็นภาษาที่จำเป็นต่อมนุษย์ที่ต้องการพัฒนาตนเองให้มีทักษะการเรียนรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนั้น ภาษาอังกฤษยังมีความสำคัญในการขับเคลื่อนทักษะและกำลังคนดิจิทัลในหลากหลายด้าน ได้แก่ 1) การสื่อสารและความร่วมมือ (Global Communication and Collaboration) 2) แพลตฟอร์มการสื่อสารออนไลน์ (Online Communication Platforms) 3) การเข้าถึงความรู้ (Knowledge Access) 4) การสร้างเนื้อหาและการตลาด (Content Creation and Marketing) 5) การเขียนโค้ดและการเขียนโปรแกรม (Coding and Programming) 6) ลูกค้าและการตลาดไร้พรมแดน (Global Customers and Markets) 7) AI และการประมวลผลภาษาธรรมชาติ (AI and Natural Language Processing (NLP)) 8) การทำงานทางไกลและการทำงานอิสระ (Remote Work and Freelancing) 9) อิทธิพลทางวัฒนธรรมและการสร้างแบรนด์ (Cultural Influence and Branding) 10) E-Learning และการพัฒนาวิชาชีพ (E-Learning and Professional Development) และ 11) การเข้าถึงการจ้างงาน (Job Market) ดังนั้น ภาษาอังกฤษและดิจิทัลเป็นสิ่งที่เชื่อมโยงกัน ที่ทำให้บุคคลและองค์กรประสบความสำเร็จได้ทั้งในปัจจุบันและอนาคต “นางสาวอรมดี” กล่าว


“Deborah Garcia Diaz” อาจารย์จากสถาบัน EF Education First ให้คำแนะนำในการเรียนรู้ภาษาอังกฤษว่า ความท้าทายที่ยิ่งใหญ่ที่สุดคือการขจัดความกลัวที่จะสื่อสารภาษาอังกฤษ โดยคนส่วนใหญ่มักจะกลัวที่จะใช้ภาษาหรือกลัวที่จะผิดพลาด โดยเฉพาะในสภาพแวดล้อมการทำงาน ดังนั้นก้าวแรกที่สำคัญคือ การกล้าที่จะออกไปใช้ภาษาอังกฤษอย่างมั่นใจ และสิ่งสำคัญที่สุดคือ นอกจากจะให้ความสำคัญกับการพูดและการฟัง เราควรให้ความสำคัญกับการอ่านมากยิ่งขึ้น เนื่องจากการอ่านถือเป็นกุญแจสำคัญที่จะทำให้เกิดการพัฒนาภาษาอังกฤษได้อย่างมีประสิทธิภาพ 


“การทำงานในรูปแบบออนไลน์และการทำงานในสถานที่ที่ต้องพบปะกับผู้อื่นโดยตรงนั้น ส่งผลให้การเรียนรู้และฝึกฝนทักษะภาษาอังกฤษมีความแตกต่างกัน โดยเฉพาะในการนำเสนอหรือประชุมออนไลน์จะสามารถเตรียมตัวและสื่อสารได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น เนื่องจากลดความประหม่าและความตื่นเต้น นอกจากนั้น การเตรียมตัว การเรียนรู้ และการปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมและวัฒนธรรมของผู้ที่จะสื่อสารด้วยถือเป็นสิ่งสำคัญที่จะนำไปสู่ความสำเร็จของการทำงานในยุคดิจิทัล”


ทั้งนี้ ภายในงานจะได้เรียนรู้ภาพรวมการใช้ภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสารและความสำคัญของการเปลี่ยนผ่านสู่องค์กรดิจิทัล รวมถึงกรณีศึกษาที่จะช่วยให้การเรียนรู้ภาษาอังกฤษเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น พร้อมกับการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับการพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษอย่างรอบด้าน 


สำหรับผู้ที่สนใจรับชมงาน “English for Digitalization” ย้อนหลัง สามารถรับชมได้ที่ https://fb.watch/nuIykrgHZf/