ข่าวสาร
สภาดิจิทัลฯ ร่วมกับ กรมสรรพากร สวทช. ดีป้า เอ็นไอเอ และ ดิจิโอ สตาร์ทอัพฟินเทค จัดเวิร์กช๊อปออนไลน์ "Capital Gains Tax Exemption Guidelines for Investors and Startups (Eng)" ดันการลงทุน Startup ยกระดับขีดความสามารถการแข่งขันไทยสู่สากล
10 ต.ค. 2566

วันอังคารที่ 10 ตุลาคม 2566 - “สภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย” โดย “นายณัฐวุฒิ อมรวิวัฒน์” รองประธานสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทยและประธานคณะกรรมการพันธกิจด้าน Startups ร่วมกับ “กรมสรรพากร” โดย “นางสาวเสาวคนธ์ มีแสง” ผู้อำนวยการกองวิชาการแผนภาษี กรมสรรพากร “สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)” โดย “นายทวีรัช มารวยทรัพย์” นักวิเคราะห์ ฝ่ายบริการทางการเงินเพื่อนวัตกรรม สวทช. “สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa)” โดย “นายธัชณวัฒน์ พิริยธนพัทธ์” หัวหน้างานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล ดีป้า “สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA)” โดย “นางสาวสลิลเกตน์ เกียรติระบิล” นักส่งเสริมนวัตกรรม NIA และ “บริษัท ดิจิโอ (ประเทศไทย) จำกัด” โดย “นายนพพร ด่านชัยนาม” กรรมการผู้จัดการ บริษัท ดิจิโอ (ประเทศไทย) ร่วมกันจัดงานสัมมนาออนไลน์ หัวข้อ “Capital Gains Tax Exemption Guidelines for Investors and Startups (Eng)” เพื่อให้ความรู้แก่ Startups และนักลงทุนทั้งไทยและต่างประเทศ ในประเด็นหน้าที่ และแนวปฏิบัติของนักลงทุน และ Startups ที่เกี่ยวข้องกับกรมสรรพากร แนวทางการขอรับรอง Startup ของ สวทช. depa และ NIA รวมทั้ง การแชร์ประสบการณ์การใช้สิทธิประโยชน์จาก Startup โดยตรง  











“นายณัฐวุฒิ อมรวิวัฒน์” รองประธานสภาดิจิทัลฯ กล่าวว่า ความท้าทายของ Startup คือการระดมทุนเพื่อสร้างการเติบโตของธุรกิจ โดยสภาดิจิทัลฯ และหน่วยงานภาครัฐ ได้แก่ กรมสรรพากร สำนักงาน ก.ล.ต. สวทช. depa NIA ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญนี้ จึงร่วมกันสนับสนุนและผลักดันมาตรการยกเว้นภาษี Capital Gains Tax สำเร็จ โดยมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2565 ที่ผ่านมา เพื่อส่งเสริมการระดมทุนใน Startup ไทย 




“ในวันนี้จึงถือเป็นโอกาสอันดีที่ได้ร่วมกันจัดงานเวิร์กช็อป เพื่อให้ข้อมูลความรู้เชิงลึกในเรื่องหน้าที่และแนวปฏิบัติของนักลงทุนและ Startups ในการใช้สิทธิ์ยกเว้นภาษี Capital Gains Tax และต้องขอขอบคุณทุกหน่วยงาน รวมทั้ง บริษัท ดิจิโอ (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท Startup ที่มาร่วมแบ่งปันประสบการณ์ในการใช้สิทธิประโยชน์การยกเว้น Capital Gains Tax จึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่า Startups และนักลงทุนจะได้รับข้อมูลการใช้สิทธิ์ยกเว้นภาษีอันเป็นประโยชน์ในการดำเนินธุรกิจต่อไป”









“นางสาวเสาวคนธ์ มีแสง” ผู้อำนวยการกองวิชาการแผนภาษี กรมสรรพากร กล่าวว่า มาตรการภาษี Capital Gains Tax มีผลบังคับใช้เป็นไปตามพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 750) พ.ศ. 2565 ซึ่งเป็นมาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการระดมทุนใน Startup สำหรับกำไรจากการขายหุ้นใน Startup ที่นักลงทุนถือครองมาแล้วไม่น้อยกว่า 24 เดือน มีหลักเกณฑ์การยกเว้นภาษีสำหรับ Startup โดยต้องเป็นธุรกิจที่อยู่ใน 14 อุตสาหกรรมเป้าหมายตามที่รัฐบาลกำหนด และต้องมีรายได้อย่างน้อย 80% จากอุตสาหกรรมเป้าหมายใน 2 รอบระยะเวลาบัญชีก่อนขาย รวมถึงต้องถูกรับรองโดย สวทช. NIA หรือ depa ดังนั้น เนื้อหาในวันนี้จะมุ่งเน้นในเรื่องหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษี เพื่อให้ Startup และ นักลงทุนได้ทราบขั้นตอนดำเนินการขอยื่นเรื่องในการใช้สิทธิประโยชน์ อันเป็นการดึงดูดการลงทุนใน Startup ไทย  









“นายทวีรัช มารวยทรัพย์” นักวิเคราะห์ ฝ่ายบริการทางการเงินเพื่อนวัตกรรม สวทช. กล่าวถึงแนวทางการขอรับรอง Startup ของกสทช. โดยกระบวนการตรวจสอบแบ่งเป็น 1) ขั้นตอนการพิจารณาธุรกิจ (Business Review) 2) การประเมินอุตสาหกรรมและเทคโนโลยี (Industry & Technology Evaluation) 3) คณะกรรมการรับรอง (Board of Committee Endorsement) และ 4) การรับรอง (Certified) โดยใช้ระยะเวลาดำเนินการ 30 - 60 วันทำการ 






“นายธัชณวัฒน์ พิริยธนพัทธ์” หัวหน้างานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล ดีป้า กล่าวว่า สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล มีการประกาศกำหนดหลักเกณฑ์ในการรับรองบริษัทเป้าหมายซึ่งประกอบกิจการด้านอุตสาหกรรมดิจิทัลที่รัฐต้องการสนับสนุน (Capital Gain Tax) ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2565 ซึ่งปัจจุบันมี Startup และ บริษัทเทคโนโลยีได้รับการรองจากดีป้า 96 ราย โดยมีหลักเกณฑ์ผู้รับผลประโยชน์ คือนักลงทุนทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ ที่ถือหุ้นมาอย่างน้อย 24 เดือน และต้องมีการเตรียมเอกสารตามที่กำหนด นอกจากนั้น การสมัครขอรับรอง สามารถทำได้โดยสมัครออนไลน์ผ่านทาง Line ของ depa และเอกสารจะได้รับการตรวจสอบ และพิจารณานำเสนอต่อคณะกรรมการต่อไป






“นางสาวสลิลเกตน์ เกียรติระบิล” นักส่งเสริมนวัตกรรม NIA กล่าวว่า การรับรองบริษัทเป้าหมายของ NIA คือ ต้องเป็นบริษัทที่มีการดำเนินธุรกิจพัฒนาหรือประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเป็นส่วนสำคัญ และต้องอยู่ใน 14 อุตสาหกรรมที่คณะกรรมการนโยบายเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศสำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมายประกาศกำหนด โดยมีขั้นตอนการยื่นขอรับรองประกอบด้วย บริษัทเป้าหมายยื่นเอกสารที่จำเป็นและชำระค่าธรรมเนียม การตรวจสอบความครบถ้วนและพิจารณาเอกสารการขอรับรอง และ สำนักงานประกาศรายชื่อบริษัทเป้าหมายที่ได้รับการรับรองภายใน 30 วัน นับจากวันที่ได้รับเอกสารที่ครบถ้วน




“นายนพพร ด่านชัยนาม” กรรมการผู้จัดการ บริษัท ดิจิโอ (ประเทศไทย) จำกัด ได้ มาร่วมแชร์ประสบการณ์ในการขอยื่นรับสิทธิ์ในการใช้สิทธิประโยชน์จากมาตรการยกเว้น Capital Gains Tax ว่า ดิจิโอ เป็น Startup ที่ดำเนินธุรกิจพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ช่วยด้าน Digital Payment แก่สถาบันการเงิน โดยเริ่มมาจากทางบริษัทมีการระดมทุน จึงสมัครเข้าร่วมมาตรการยกเว้น Capital Gains Tax โดยขึ้นทะเบียนกับทาง depa ซึ่งมีกระบวนการสมัครที่ง่ายและใช้เวลาไม่นาน ในการนี้ ขอขอบคุณสภาดิจิทัลฯ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่ร่วมกันผลักดันมาตรการยกเว้นภาษี Capital Gains Tax สำเร็จ





ทั้งนี้ สภาดิจิทัลฯ และ หน่วยงานพันธมิตร ได้ร่วมกันจัดงานสัมมนาออนไลน์ หัวข้อ “หน้าที่และแนวปฏิบัติของนักลงทุนและ Startups ในการใช้สิทธิ์ยกเว้นภาษี Capital Gains Tax” ไปเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา โดยการจัดงานครั้งนี้เป็นการขยายผลไปยัง Startup และนักลงทุนชาวต่างประเทศที่มีความสนใจมาร่วมรับฟังความรู้ในการใช้สิทธิ์ยกเว้นภาษี Capital Gains Tax โดยภายในงาน ได้รับความสนใจจากผู้ร่วมงานในการแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นต่อประเด็นต่างๆ เช่น เงื่อนไขการก่อตั้งบริษัท Startup หลักเกณฑ์พิจารณาการยื่นขอยกเว้นภาษีจากกรมสรรพากร รวมถึงช่องทางการติดต่อขอรับรอง Startup จาก สวทช. depa และ NIA เป็นต้น ทั้งนี้ มีผู้สนใจเข้าร่วมรับฟังทั้งช่องทาง Zoom Webinar และ DCT Facebook กว่า 100 ราย 


สำหรับผู้สนใจสามารถรับชมเวิร์กช๊อปออนไลน์ย้อนหลังได้ที่ 

1. หน้าที่และแนวปฏิบัติของนักลงทุนและ Startups ในการใช้สิทธิ์ยกเว้นภาษี Capital Gains Tax (ไทย) >> https://fb.watch/nA_ZOcvah8/?mibextid=v7YzmG 

2. Capital Gains Tax Exemption Guidelines for Investors and Startups (Eng) >> https://fb.watch/nA_Nc6hzbg/?mibextid=cr9u03