ข่าวสาร
“ปราโมทย์ โชคศิริกุลชัย” รองประธานสภาดิจิทัลฯ ร่วมเวทีระดมความคิดเห็นผ่านกระบวนการ Policy Lab หนุนนโยบายส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรม Digital Content ด้านวัฒนธรรม ขับเคลื่อน Soft Power สอดรับนโยบายรัฐบาลด้านการส่งเสริมพลังสร้างสรรค์
24 ต.ค. 2566

“ปราโมทย์ โชคศิริกุลชัย” รองประธานสภาดิจิทัลฯ ร่วมเวทีระดมความคิดเห็นผ่านกระบวนการ Policy Lab หนุนนโยบายส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรม Digital Content ด้านวัฒนธรรม ขับเคลื่อน Soft Power สอดรับนโยบายรัฐบาลด้านการส่งเสริมพลังสร้างสรรค์ สู่การสร้างรายได้ให้กับประเทศอย่างยั่งยืน 


วันอังคารที่ 24 ตุลาคม 2566 - “สภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย” โดย “นายปราโมทย์ โชคศิริกุลชัย” รองประธานและประธานคณะกรรมการพันธกิจด้าน Digital Culture ร่วมงานประชุมเชิงปฏิบัติการโดยผ่านกระบวนการห้องปฏิบัติการนโยบายสาธารณะ (Policy Lab) ครั้งที่ 1 หัวข้อ “การประชุมระดมความคิดเห็น เพื่อทำความเข้าใจสภาพปัญหาและกำหนดโจทย์ที่ชัดเจน ในการออกแบบนโยบายหรือมาตรการส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรม Digital Content ด้านวัฒนธรรม เพื่อสร้าง Soft Power ที่สามารถสร้างรายได้ให้กับประเทศ” โดยมี “นายภุชพงค์ โนดไธสง” เลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.) กล่าวเปิดงาน พร้อมด้วยผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน สถาบันการศึกษา และภาคประชาชน เข้าร่วม ณ โรงแรมรามาการ์เดนส์ ถนนวิภาวดีรังสิต เขตหลักสี่ กรุงเทพฯ


“นายภุชพงค์ โนดไธสงค์” เลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับนโยบายการสร้างพลังสร้างสรรค์ หรือ Soft Power ของประเทศ เพื่อยกระดับและพัฒนาความสามารถด้านความรู้ ความสามารถ และความคิดสร้างสรรค์ของคนไทยให้สร้างมูลค่าเพิ่มและสร้างรายได้ รวมทั้งการอนุรักษ์ ฟื้นฟู และพัฒนาต่อยอดศิลปะ วัฒนธรรม และส่งเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่น เพื่อนำมาต่อยอดในการสร้างมูลค่าเพิ่ม สร้างประโยชน์ในการถ่ายทอดมรดกทางวัฒนธรรมของชาติในรูปแบบ Digital Content ให้เกิดการสร้าง Soft Power ที่สามารถสร้างรายได้ให้กับประเทศ


“นายปราโมทย์ โชคศิริกุลชัย” รองประธานสภาดิจิทัลฯ กล่าวถึงการต่อยอดการดำเนินงานด้าน Commercialize ว่าควรมีการนำคอนเทนต์รูปแบบการดำเนินชีวิตของสังคมมาใช้ประโยชน์ในการพัฒนาอุตสาหกรรม Digital Content อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เช่น ปรากฎการณ์บุพเพสันนิวาส และพรหมลิขิต มีการต่อยอดเป็นภาพยนตร์ การท่องเที่ยวตามรอยละครและประวัติศาสตร์ รวมถึงปรากฎการณ์ภาพยนตร์สัปเหร่อ ที่สามารถผสมผสานวิถีชาวบ้านและคำคมต่างๆ เข้าไปในเนื้อหาภาพยนตร์ได้อย่างลงตัว รวมถึงการที่จะขับเคลื่อนนโยบาย กลไก มาตรการเพื่อการสร้างสรรค์ต่อยอดมรดกวัฒนธรรม เพื่อสร้างคุณค่าทางเศรษฐกิจและสังคมนั้น การสนับสนุนจากภาครัฐถือเป็นสิ่งสำคัญ โดยควรมีเว็บไซต์รวบรวมข้อมูล หรือเกมที่ให้รายละเอียดทางวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ที่เจาะลึก และมีความเป็นวิชาการ จะส่งผลให้เนื้อหาของละครและภาพยนตร์มีอรรถรสและความน่าสนใจมากขึ้น


สำหรับการจัดกิจกรรมฯ ในครั้งนี้ ได้ดำเนินการผ่านกระบวนการห้องปฏิบัติการนโยบายสาธารณะ หรือ Policy Lab ซึ่งเป็นหนึ่งในแนวความคิดในการพัฒนานโยบายสาธารณะในรูปแบบที่มุ่งเน้นการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนในทุกกระบวนการ ผ่านการร่วมคิด ร่วมเสนอแนะ และให้ความเห็นในการสร้างสรรค์นโยบายและนวัตกรรมเชิงนโยบายในรูปแบบใหม่ ๆ ที่สามารถตอบโจทย์ประชาชน หรือผู้ที่ได้รับประโยชน์จากนโยบายอย่างแท้จริง และภายหลังจากที่ได้ข้อเสนอแนะดังกล่าว ทาง สดช. จะนำข้อเสนอแนะฯ เสนอต่อคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เพื่อกำหนดแนวทางการขับเคลื่อนนโยบายไปสู่การปฏิบัติต่อไป