ข่าวสาร
“DCT” จับมือ “ARAK” จัดเวิร์กช๊อปออนไลน์ หัวข้อ “โครงการปกป้องคุ้มครองเด็กและเยาวชนจากภัยออนไลน์ (Digital Vaccine)” แนะนำการใช้งาน “ARAK Internet Security” ส่งเสริมซอฟต์แวร์พันธุ์ไทย คัดกรองเนื้อหาไม่เหมาะสมทางอินเทอร์เน็ต ปกป้องอนาคตของชาติจากภัยออนไลน์
25 ต.ค. 2566

วันพุธที่ 25 ตุลาคม 2566 - “สภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย (DCT)” โดย “ม.ร.ว.นงคราญ ชมพูนุท” รองประธานและประธานคณะกรรมการพันธกิจพัฒนาสังคมดิจิทัล “นายลักษมณ์ เตชะวันชัย” รองประธานและประธานคณะกรรมการพันธกิจด้านงานโครงการพิเศษพร้อมด้วย “นายนนทวัตต์ สาระมาน” กรรมการสภาดิจิทัลฯ และผู้พัฒนาซอฟต์แวร์ ARAK Internet Security ร่วมกับ “ทีมพัฒนาซอฟต์แวร์ ARAK Internet Security” จัดงานอบรมเชิงปฏิบัติการในรูปแบบออนไลน์หัวข้อ “โครงการปกป้องคุ้มครองเด็กและเยาวชนจากภัยออนไลน์ (Digital Vaccine)” เพื่อนำเสนอรายละเอียดความเป็นมา ตลอดจนแนะนำการติดตั้ง การใช้งานซอฟต์แวร์ ARAK ให้กับโรงเรียนนำร่อง 6 โรงเรียน ได้แก่ โรงเรียนวัดเตาปูน โรงเรียนวัดจันทบุรี (พิมพ์ประชานุเคราะห์) โรงเรียนวัดพลอยกระจ่างศรี โรงเรียนวัดศาลาลอย โรงเรียนวัดเชิงเลน และ โรงเรียนมีชัยพัฒนาเพื่อเป็นโครงการต้นแบบในการสร้างความตระหนักรู้ และแนวทางการส่งเสริมการเข้าถึงและใช้งานอินเทอร์เน็ตอย่างปลอดภัยรวมถึงสร้างความร่วมมือกับเครือข่ายและองค์กรทางด้านดิจิทัล ในการส่งเสริมการเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัลอย่างปลอดภัยสำหรับเด็กและเยาวชน


“ม.ร.ว.นงคราญ ชมพูนุท” รองประธานสภาดิจิทัลฯ กล่าวว่า สภาดิจิทัลฯ เล็งเห็นถึงความสำคัญในการผลักดันการป้องกันภัยคุกคามทางออนไลน์สำหรับเด็ก เยาวชน และกลุ่มเปราะบาง โดยการนำซอฟแวร์เข้าไปคัดกรองการเข้าถึงอินเทอร์เน็ต นอกจากนั้นยังเห็นถึงความสำคัญของการลดภาระครอบครัวและโรงเรียน ที่จะต้องเสียค่าใช้จ่ายไปกับซอฟแวร์ต่างประเทศ ดังนั้น จึงเป็นโอกาสอันดีที่มีการพัฒนาซอฟต์แวร์ ARAK Internet Security ซึ่งผลิตขึ้นในประเทศไทยเพื่อสร้างโอกาสให้คนไทยได้มีการพัฒนาด้านซอฟต์แวร์ โดยไม่ได้พึ่งพาต่างประเทศเพียงอย่างเดียว รวมถึงมีกลไกในการขับเคลื่อนให้มีการพัฒนาปรับปรุง ต่อยอด ตลอดจนขยายผลเพื่อให้กลุ่มผู้เปราะบาง โดยเฉพาะผู้สูงอายุ สามารถนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ในระยะยาว โดยในส่วนแรกจะมีการทดสอบใช้งานซอฟแวร์ ARAK และสร้างกระบวนการ แนวทางปฎิบัติต่างๆ เพื่อขยายผลไปสู่โรงเรียนทั่วประเทศ 


“นับว่าเป็นโอกาสอันดีที่โรงเรียนและสถาบันการศึกษาที่มาร่วมงานในวันนี้ จะมาช่วยกันเป็นโรงเรียนต้นแบบ ในการแสดงความคิดเห็น นำไปสู่การพัฒนาซอฟแวร์ เพื่อให้สามารถนำไปใช้อย่างเป็นรูปธรรม และลดภาระการลงทุนในซอฟแวร์ต่างประเทศ ทั้งนี้ ต้องขอขอบคุณทุกโรงเรียนที่เข้ามาเป็นโรงเรียนนำร่องในโครงการร่วมกับสภาดิจิทัลฯ และหวังว่าจะเป็นประโยชน์ต่อโรงเรียน และ ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการดำเนินงาน เพื่อช่วยปกป้องและป้องกันภัยออนไลน์แก่เด็กและเยาวชนไทยอย่างต่อเนื่องในระยะยาว”


“นายลักษมณ์ เตชะวันชัย” รองประธานสภาดิจิทัลฯ กล่าวว่า ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี ที่เรามีซอฟแวร์คัดกรองข้อมูลที่ไม่เหมาะสมสำหรับเด็กและเยาวชนของประเทศไทย โดยสิ่งสำคัญคือจะต้องมีการเก็บข้อมูลการใช้งานจากโรงเรียนต้นแบบ รวมถึงต่อยอดการจัดกิจกรรมและงานสัมมนาต่างๆ เพื่อเก็บข้อมูลผลการใช้งานมาพัฒนาปรับปรุงการใช้งานซอฟแวร์อย่างมีประสิทธิภาพ เป็นซอฟแวร์ไทยที่จะช่วยคุ้มครองเด็กและเยาวชน เพื่อนำไปสู่การขยายผลไปยังโรงเรียนในภูมิภาคและระดับประเทศ ตลอดจนต่อยอดไปสู่กลุ่มผู้สูงอายุต่อไป


“นายนนทวัตต์ สาระมาน” กรรมการสภาดิจิทัลฯ กล่าวว่า ซอฟต์แวร์ ARAK Internet Security เป็นซอฟต์แวร์ที่พัฒนาขึ้นจากความร่วมมือของ SRAN Technology และ สมาคมส่งเสริมนวัตกรรมเทคโนโลยีไซเบอร์ (CIPAT) เพื่อคัดกรองข้อมูลที่ไม่เหมาะสมสำหรับเด็กและเยาวชน โดยเราต้องการที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยส่งเสริมสังคมให้เข้าถึงอินเทอร์เน็ตอย่างปลอดภัยมากขึ้น


ทั้งนี้ จากข้อมูลการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตของประชากรในประเทศไทย ในปี 2564 พบว่า กว่า 80% ของประชาในประเทศไทยทั้งหมดสามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ และจำนวนครึ่งหนึ่งของกลุ่มเด็กและเยาวชนอายุ 7-24 ปีสามารถใช้งานอินเทอร์เน็ตได้ อีกทั้งในสถานการณ์ปัจจุบัน จะเห็นได้ว่าเด็กไทยช่วงอายุ 9-18 ปีมีมือถือและคอมพิวเตอร์คิดเป็น 81% เข้าถึงอินเทอร์เน็ตคิดเป็น 64%  และใช้งาน Social Media ถึง 85% ดังนั้นการป้องกันภัยออนไลน์แก่เยาวชนและเด็กจึงเป็นสิ่งสำคัญ 


“ประเทศไทยยังขาดกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันการเข้าถึงเนื้อหาอันไม่เหมาะสมสำหรับเด็กและเยาวชน รวมถึงซอฟแวร์ในการคัดกรองเนื้อหาที่ไม่เหมาะสมในประเทศไทย ซึ่งเป็นซอฟแวร์ที่ไม่ได้มีการอัพเดทอย่างทันสถานการณ์ และยังเป็นซอฟแวร์ต่างประเทศที่ไม่เข้าใจเนื้อหาภาษาไทยอย่างถูกต้อง โดยทางทีมงาน จึงนำความรู้และความเชี่ยวชาญมาพัฒนาโปรแกรมขึ้นเพื่อตอบโจทย์ในการคัดกรองข้อมูลจากการใช้งานอินเทอร์เน็ต โดยเป็นซอฟแวร์ของประเทศไทย และหวังว่าจะเป็นประโยชน์ต่อสังคมไทยมากที่สุด”


ในการนี้ “นายจิรวัฒน์ ไวพจนาท” ผู้ดูแลโครงการพันธกิจสังคมดิจิทัล สภาดิจิทัลฯกล่าวแนะนำสภาดิจิทัลฯ ว่าจัดตั้งขึ้นภายใต้พระราชบัญญัติสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2562 ปัจจุบันมีสมาชิกครอบคลุมทั้ง 6 กลุ่มของอุตสาหกรรมดิจิทัลในประเทศ โดยมุ่งเน้นการขับเคลื่อนเทคโนโลยีดิจิทัลขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคม โดยมียุทธศาสตร์สำคัญ 5 ด้าน ได้แก่ 1) การกำหนดมาตรฐานและตัวชี้วัดด้านดิจิทัล 2) การสร้างความร่วมมือภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน 3) การพัฒนาศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ด้านดิจิทัล 4) การพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล และ 5) การเป็นศูนย์กลางนวัตกรรมของภูมิภาค รวมทั้งการขับเคลื่อนด้านสังคมและวัฒนธรรมดิจิทัลของประเทศชาตินำไปสู่การเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันด้านดิจิทัล 


นอกจากนั้น ภายในงานอบรมเชิงปฏิบัติการ “โครงการปกป้องคุ้มครองเด็กและเยาวชนจากภัยออนไลน์ (Digital Vaccine)" ยังมีช่วงถาม-ตอบ และแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นระหว่างทีมพัฒนาซอฟต์แวร์ ARAK Internet Securityและผู้แทนโรงเรียนนำร่อง เพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาและขยายผลการใช้งานในระดับประเทศต่อไป


ทั้งนี้ สภาดิจิทัลฯ มุ่งมั่นที่จะบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันพัฒนาต่อยอด และขยายผลไปสู่การขับเคลื่อนการป้องกันภัยคุกคามต่อเด็ก เยาวชน และกลุ่มเปราะบางในอนาคต ทำให้สังคมมีคุณภาพชีวิตที่ดีและมีความปลอดภัยในการดำรงชีวิต


โดยสภาดิจิทัลฯ จะเป็นส่วนหนึ่งในการร่วมมือกับทุกภาคส่วนเพื่อขับเคลื่อนให้เกิดการใช้งานซอฟแวร์ไทยอย่างเป็นรูปธรรมทำให้เด็กและเยาวชนไทย ซึ่งเป็นอนาคตของประเทศชาติ ห่างไกลจากภัยไซเบอร์ นำไปสู่การสร้างความยั่งยืนในอนาคต