ข่าวสาร
ประธานสภาดิจิทัลฯ “ศุภชัย เจียรวนนท์” นำทีมประชุมคณะกรรมการสภาดิจิทัลฯครั้งที่ 6/2566 ชี้แนะ 4 มิติให้เน้นคุณภาพและความปลอดภัยนำไทยสู่ความสำเร็จด้าน Digital Transformation & Technology ในอนาคต
1 พ.ย. 2566

ประธานสภาดิจิทัลฯ “ศุภชัย เจียรวนนท์” นำทีมประชุมคณะกรรมการสภาดิจิทัลฯ ครั้งที่ 6/2566 ย้ำหลายองค์กรยักษ์ใหญ่ต่างชาติ ยังคงเชื่อมั่นศักยภาพการลงทุน Global Cloud ในไทย ชี้แนะ 4 มิติให้เน้นคุณภาพและความปลอดภัย นำไทยสู่ความสำเร็จด้าน Digital Transformation & Technology ในอนาคต 


วันพุธที่ 1 พฤศจิกายน 2566, อาคารสุทธิชั้น 4 ถนนเพชรบุรีตัดใหม่ กรุงเทพฯ - “สภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย” นำโดย “นายศุภชัย เจียรวนนท์” ประธานสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทยพร้อมด้วยรองประธานและคณะกรรมการร่วมประชุมคณะกรรมการสภาฯ โดยมีวาระสำคัญประกอบด้วยอาทิการรายงานความคืบหน้ายุทธศาสตร์สภาดิจิทัลฯ เช่น  อัพเดทเรื่องนโยบายด้านดิจิทัลของรัฐบาล, Economic Impact และเป้าหมายของสภาดิจิทัลฯ ที่นำไปสู่โอกาสความท้าทายใหม่ๆ เช่น การประกันเงินกู้ด้วย IP, เงินสนับสนุน Digital Transformation, ความร่วมมือ UNICEF, โครงการ Digital Vaccine, การจัดงาน DCT Startup Connect Chapter 3 เป็นต้น 

 

นอกจากนั้น ยังมีการนำเสนอวาระเพื่อขออนุมัติในโครงการสำคัญ ได้แก่


1) Workshop Child Online Protection และจัดทำแนวปฏิบัติการคุ้มครองเด็กและเยาวชนไทย ฉบับสำหรับผู้ปกครองและนักการศึกษา ในรูปแบบ GRAPHIC 


2) โครงการสัมมนาเพื่อความร่วมมือในการพัฒนาความสามารถในการแข่งขันของประเทศด้าน Digital และ AI ระหว่าง DCT กับ บพข. 


3) สภาดิจิทัลฯ เป็นตัวแทนประเทศไทย (Focal Point) ในความร่วมมือ AFACT (Asia Pacific Council for Trade Facilitation & Electronic Business) และ


4) โครงการยกระดับการเกษตรไทยด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล 


“นายศุภชัย เจียรวนนท์” ประธานสภาดิจิทัลฯ กล่าวว่า สองเดือนที่ผ่านมาได้มีโอกาสเดินทางไปศึกษาดูงานด้านเทคโนโลยีในต่างประเทศ ทั้งการเดินทางร่วมกับ คณะนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และการเดินทางส่วนตัว เพื่อเข้าพบผู้บริหารระดับสูงขององค์กรใหญ่ระดับโลกทั้งในอเมริกาและจีน อาทิ Amazon, Microsoft, Huawei เป็นต้น โดยรวมทุกองค์กรได้ให้ความสำคัญในเรื่องความสำเร็จของ Digital Transformation โดยเฉพาะการขับเคลื่อนเข้าสู่โลกของ Cloud และ AI โดยได้ยกตัวอย่างมุมมองผู้บริหารระดับสูงของ Microsoft ว่านอกเหนือจากที่ประเทศไทยมีพื้นฐานที่ดีในการลงทุน Domestic Market ด้านเทคโนโลยีดิจิทัลแล้ว หากในอนาคตจะมีการลงทุนระดับ Global Cloud ประเทศไทยยังคงมีแนวโน้มที่ดีสำหรับโอกาสการลงทุนใน Cloud ขององค์กรยักษ์ใหญ่ระดับโลกได้ถึงแม้ว่าจะมีประเทศมาเลเซียเป็นคู่แข่งขันก็ตาม 


ทั้งนี้ ประธานสภาดิจิทัลฯ ยังได้รับคำแนะนำจากผู้บริหารระดับสูงของ Huawei ถึงมุมมอง (Perspective) ในเรื่องความสำคัญด้านความปลอดภัย (Security) ของประเทศไทยในรูปแบบของ Smart City แก่ประชาชนโดยเฉพาะอย่างยิ่ง นักท่องเที่ยวที่เข้ามาในประเทศให้มากขึ้น ดังเห็นได้จากเมืองเสินเจิ้นมณฑลกว้างตุ้งในประเทศจีน ที่ได้มีการพัฒนาเรื่องของความปลอดภัย (กว่าเมื่อ 20 ปีก่อน) ด้วยการพัฒนาระบบSecurity (กล้องอัจฉริยะ) ขึ้นมาจนประสบผลสำเร็จและกลายเป็นเมืองที่มีความปลอดภัยระดับต้นๆ ของโลกในปัจจุบัน 

 

ประธานสภาดิจิทัลฯ กล่าวอีกว่าในการขับเคลื่อนการทำงานของสภาดิจิทัลฯควรส่งเสริมผลักดันและลดความเหลื่อมล้ำในด้าน “สังคม” ของ Digital Technology ใน 4 ประเด็นสำคัญคือ 


1. Access to Funding ถือเป็นเรื่องใหญ่และสำคัญทางสังคมที่ต้องยอมรับว่าปัจจุบันธนาคารในไทยมี 9-10 ล้านบัญชีแต่ในขณะที่กลุ่มวัยทำงานมีถึง 50ล้านคนโดยเฉพาะกลุ่ม Under Serve ที่มีจำนวนมาก และอยู่ในภาวะ Modern Slavery ที่ยังคงต้องมีการกู้ยืมนอกระบบรวมถึงไปกลุ่มแรงงานต่างด้าว นับว่าเรื่องนี้ต้องมีการดูแลเป็นพิเศษ  


2. Quality Education ที่ไม่ใช่เฉพาะความรู้เชิงวิชาการเท่านั้น แต่ครอบคลุมถึงคุณค่าและกรอบความคิดด้านการเรียนรู้ ทั้งนี้ ปัจจุบันพบว่า 30% ของกลุ่มนักเรียนมัธยมศึกษาปีที่ 3 จำเป็นต้องออกจากระบบการศึกษาทำให้ไม่มีวุฒิบัตรในการสมัครงาน  


3. Access to Connectivity สภาดิจิทัลฯได้มีการผลักดันในประเด็นนี้อย่างต่อเนื่องอยู่แล้ว ทั้งระบบเครือข่าย 3G,4G,5G รวมถึงโครงข่าย Broadband มาโดยตลอด แต่สิ่งหนึ่งที่ต้องเร่งการสนับสนุนให้มากขึ้นคือเยาวชนยังคงขาดแคลนทั้งคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์เพื่อให้สามารถเข้าถึงองค์ความรู้ที่จะนำไปสู่การพัฒนาศักยภาพที่ดีได้ในอนาคต 


4. Insurance จากสถิติคนไทยมีความสามารถในการซื้อประกัน (Insurance) ได้เป็นจำนวนหลักแสนราย และบางรายก็มีระบบประกันสังคมของบริษัทด้วย แต่เรื่องนี้ทุกคนควรเข้าถึงได้แม้จะมีรายได้น้อย ในขณะเดียวกันควรพิจารณาเรื่องของ Digitally Possible เมื่อเรากำลังก้าวเข้าสู่เรื่องของ Digital ID, Credit Scrolling และ Data Accessibility ให้สามารถเข้าถึงกลุ่มคนรายได้น้อยได้ 

  

“สำหรับประเด็น 4 เรื่องที่กล่าวมาถือว่าเป็นเรื่องของ Fundamental Equality ที่นอกจากกลุ่ม Minority เช่น กลุ่มผู้พิการกลุ่มเปราะบางที่ปัจจุบันครอบคลุมอยู่แล้วแต่การสร้างระบบนิเวศน์ของ Equality โดยใช้ Digital Technology ในปัจจุบันยังคงไปไม่ถึงต้องอาศัยการผลักดันและดูแลให้มากขึ้น ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับ Public Policy ที่เกี่ยวข้อง โดยควรมีการดูแลกลุ่ม Under Serving ที่อาจไม่ใช่แค่เฉพาะประชาชนเท่านั้น แต่ต้องรวมไปถึงกลุ่มธุรกิจขนาดเล็ก ในระดับชุมชนอีกด้วย” ประธานสภาดิจิทัลฯ กล่าวในตอนท้าย