ข่าวสาร
“สภาดิจิทัลฯ” จัดประชุมออนไลน์คณะกรรมการร่วมกับผู้ประกอบการธุรกิจถกข้อคิดเห็นต่อการให้บริการดิจิทัลคอนเทนต์ที่เสนอทบทวนให้นำออกจากบัญชีท้าย พ.ร.บ. การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542
16 พ.ย. 2566

“สภาดิจิทัลฯ” จัดประชุมออนไลน์คณะกรรมการร่วมกับผู้ประกอบการธุรกิจ ถกข้อคิดเห็นต่อการให้บริการดิจิทัลคอนเทนต์ที่เสนอทบทวนให้นำออกจากบัญชีท้าย พ.ร.บ. การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 มุ่งให้เกิดความพร้อมในการแข่งขันแก่ผู้ประกอบการไทย สร้างแรงงานที่มีคุณภาพจากการแลกเปลี่ยน Know-How และทักษะเทคโนโลยีดิจิทัลต่าง ๆ จากผู้ประกอบการต่างชาติในอนาคต


วันพฤหัสบดีที่ 16 พฤศจิกายน 2566 ที่ผ่านมา “คณะกรรมการสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย” ร่วมกับผู้ประกอบการธุรกิจไทยด้านดิจิทัลคอนเทนต์ประชุมออนไลน์พร้อมทั้งรับฟังความคิดเห็นต่อการให้บริการดิจิทัลคอนเทนต์ (Animation, Character, Game) ที่เสนอทบทวนให้นำออกจากบัญชีท้าย พ.ร.บ. การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 ซึ่งจะส่งผลให้คนต่างด้าวสามารถประกอบธุรกิจดังกล่าวได้โดยไม่ต้องขออนุญาตจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า (DBD)


ทั้งนี้ ในการประชุมมีประเด็นหารือประกอบด้วยขอบเขตธุรกิจที่จะนำออกจากบัญชีท้ายฯ  ข้อเสนอแนะในการนำธุรกิจออกจากบัญชีท้ายฯ และประเด็นอื่น โดยสภาดิจิทัลฯจะรวบรวมความคิดเห็นและข้อเสนอแนะเสนอต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้า (DBD) เพื่อเป็นแนวทางในการกำหนดกฎหมายและระเบียบข้อบังคับที่จะนำมาปรับใช้ในการสร้างความเข้มแข็ง และความได้เปรียบให้แก่ผู้ประกอบการไทย อันก่อให้เกิดประโยชน์ต่อเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมการให้บริการดิจิทัลคอนเทนต์ไทยในอนาคต 


ในการนี้ คณะกรรมการสภาดิจิทัลฯ ได้เสนอแนะความคิดเห็นในหลายประเด็น อาทิเช่น ควรพิจารณาถึงประเด็นความสามารถและความพร้อมในการแข่งขันของผู้ประกอบการไทย ประกอบกับประโยชน์ที่ไทยอาจได้รับจากการเปิดกว้างให้ต่างชาติเข้ามาประกอบกิจการธุรกิจบริการดิจิทัลในไทย รวมถึงความสามารถในการกำกับดูแลธุรกิจบริการ Digital Content ของรัฐไทย ซึ่งประเทศไทยอาจต้องพิจารณาถ่วงดุลให้เหมาะสมเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อเศรษฐกิจและสังคม ตลอดจนควรจัดให้มีการส่งเสริมและสนับสนุนผู้ประกอบการไทยให้มีความเข้มแข็งมากขึ้นและสามารถแข่งขันกับต่างชาติได้ โดยกำหนดมาตรการด้านกฎหมาย ระเบียบข้อบังคับ และนโยบายที่ชัดเจนในการสนับสนุนอุตสาหกรรม ตลอดจนการคุ้มครองภาคอุตสาหกรรมบริการดิจิทัลคอนเทนต์ไทย ทั้งในแง่ของสิทธิประโยชน์ทางภาษีเงินได้นิติบุคคล มาตรการการให้ทุนในรูปแบบต่างๆ หรือการร่วมลงทุนโดยหน่วยงานรัฐ   การสนับสนุนการพัฒนากำลังคนโดยการกำหนดให้ต่างชาติต้องมีการจ้างงานรวมถึงถ่ายทอดเทคโนโลยีและ Know-How ให้แก่บุคลากรไทย  ตลอดจนการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีแก่องค์กรที่ใช้บริการผู้ประกอบการไทยเพื่อสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน นอกจากนั้นยังอาจมีมาตรการในการป้องกันมิให้ผู้ประกอบการต่างชาติเข้ามาแย่งชิงแรงงานไทยอีกด้วย