ข่าวสาร
“สภาดิจิทัลฯ” แสดงวิสัยทัศน์ในงานแถลงข่าว “Official Launch Event of the 3rd UNESCO Global Forum on the Ethics of Artificial Intelligence 2025” ขับเคลื่อนความร่วมมือรัฐ-เอกชน หนุนไทยสู่การเป็นผู้นำด้าน AI แห่งภูมิภาค
4 ธ.ค. 2567

4 ธันวาคม 2567 – “สภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย” นำโดย “ดร.วีระ วีระกุล” รองประธานและประธานพันธกิจด้านการเป็นศูนย์รวมนวัตกรรมของภูมิภาค สภาดิจิทัลฯ ร่วมเวทีเสวนาในงานแถลงข่าว Official Launch Event of the 3rd UNESCO Global Forum on the Ethics of Artificial Intelligence 2025: “AI Ethical Governance in Action” and Thailand’s Artificial Intelligence Readiness Assessment Methodology พร้อมด้วย “ม.ร.ว.นงคราญ ชมพูนุท” ประธานสภาดิจิทัลฯ และ “นางเขมนรินทร์ รัตนาอัมพวัลย์” รองประธานและประธานพันธกิจด้านการพัฒนาศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ด้านดิจิทัล สภาดิจิทัลฯ เข้าร่วมเป็นเกียรติภายในงาน โดย “นายประเสริฐ จันทรรวงทอง” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวเปิดงาน และมีผู้เข้าร่วม อาทิ ผู้กำหนดนโยบาย ผู้แทนจากกระทรวงการต่างประเทศ ผู้แทนจากสถานเอกอัครราชทูตต่างประเทศประจำประเทศไทย ผู้บริหารของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และผู้เชี่ยวชาญจากประเทศสมาชิกยูเนสโกกว่า 800 คน ณ โรงแรมอินเตอร์คอนติเนนตัล กรุงเทพฯ


ภายในงานแถลงข่าว มีการจัดเวทีเสวนาเชิงลึกโดยผู้นำและผู้เชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้องในหัวข้อ “Thailand’s Journey in Driving AI Ethics & Governance: Insights from Hosting the Global Forum on the Ethics of AI” เส้นทางของไทยในการขับเคลื่อนจริยธรรมและการกำกับดูแล AI: มุมมองจากการเป็นเจ้าภาพ Global Forum on the Ethics of AI โดย ดร.วีระ วีระกุล รองประธานสภาดิจิทัลฯ ดร.เวทางค์ พ่วงทรัพย์ เลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.) ดร.ชัย วุฒิวิวัฒน์ชัย ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC) และ ดร.ศักดิ์ เสกขุนทด ที่ปรึกษาอาวุโส สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ETDA)


ดร.วีระ วีระกุล รองประธานสภาดิจิทัลฯ กล่าวว่า การนำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) มาใช้ในภาคเอกชนเป็นโอกาสสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัลของประเทศไทย อย่างไรก็ตาม การพัฒนา AI ต้องดำเนินควบคู่ไปกับการใช้งานอย่างมีจริยธรรม เพื่อป้องกันผลกระทบด้านลบที่อาจเกิดขึ้น โดยสิ่งสำคัญคือการร่วมมือกันของทุกภาคส่วนในการกำหนดแนวทางการพัฒนา AI อย่างมีจริยธรรม เพื่อให้ประเทศไทยสามารถนำ AI มาใช้ประโยชน์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ


ดร.วีระ ยังได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของการร่วมมือกันระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชน เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนา AI อย่างมีจริยธรรมในประเทศไทย โดยเสนอให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการร่วมเพื่อกำหนดเป้าหมายและแนวทางการดำเนินงานที่ชัดเจน พร้อมทั้งเน้นย้ำถึงความจำเป็นในการวัดผลที่เป็นรูปธรรม เช่น การเพิ่มคุณภาพชีวิตของประชาชน หรือการแก้ไขปัญหาสังคม โดยมองว่าการพัฒนา AI ควรเป็นไปเพื่อประโยชน์ของทุกคน ไม่ใช่เพื่อกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง และควรเรียนรู้จากบทเรียนในอดีต เพื่อนำมาปรับใช้ในการพัฒนา AI ในอนาคต


ภายในงาน มีการอภิปรายถึงแนวทางการพัฒนา AI อย่างมีจริยธรรมในประเทศไทย โดยผู้เข้าร่วมเห็นพ้องกันว่า การสร้างระบบนิเวศที่เอื้อต่อการพัฒนา AI การพัฒนาทักษะแรงงาน และการกำหนดนโยบายที่ชัดเจน เป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายดังกล่าว


สำหรับงานในครั้งนี้ จัดขึ้นเพื่อร่วมกันแถลงจุดยืนและสร้างความเข้มแข็งในการขับเคลื่อนการประยุกต์ใช้ AI อย่างมีจริยธรรมและธรรมาภิบาลของประเทศไทย ที่สอดคล้องตามหลักการและแนวทางสากล รวมถึงเผยแพร่ประชาสัมพันธ์การจัดการประชุม the 3rd UNESCO Global Forum on the Ethics of Artificial Intelligence 2025: “AI Ethical Governance in Action” โดยประเทศไทยเป็นเจ้าภาพงานประชุมจริยธรรม AI ครั้งแรกในเอเชียแปซิฟิก 


การจัดงานครั้งนี้ถือเป็นก้าวสำคัญของประเทศไทยในการแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นในการพัฒนา AI อย่างมีความรับผิดชอบ และเป็นการเปิดโอกาสให้ประเทศไทยได้ร่วมมือกับนานาชาติในการสร้างอนาคตที่ขับเคลื่อนด้วย AI อย่างยั่งยืน























ที่มารูปภาพ : ETDA