ข่าวสาร
สภาดิจิทัลฯ จัดงาน “Policy Roundtable” หัวข้อ Skills, AI, and the Future of Work: Labor Market Transitions in the Age of Generative AI ผนึกภาครัฐ-ภาคการศึกษา ขับเคลื่อนนโยบาย รับมือ AI ปฏิวัติตลาดแรงงานในอนาคต
17 ธ.ค. 2567

17 ธันวาคม 2567 - “สภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย (DCT)” จัดงาน Policy Roundtable ภายใต้หัวข้อ Skills, AI, and the Future of Work: Labor Market Transitions in the Age of Generative AI โดยได้รับเกียรติจากผู้เชี่ยวชาญระดับโลก Prof. Ramayya Krishnan, W. W. Cooper and Ruth F. Cooper Professor of Management Science and Information Systems, Carnegie Mellon University, USA ร่วมนำเสนอผลการวิจัย และแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ร่วมกับภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคการศึกษา เพื่อขับเคลื่อนความร่วมมือในการผลักดันนโยบายด้านการพัฒนาทักษะและกำลังคนดิจิทัลของประเทศไทย ให้พร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของโลกการทำงานในยุค AI โดยมี ดร.อธิป อัศวานันท์ ผู้อำนวยการสภาดิจิทัลฯ เป็นผู้ดำเนินรายการ ณ ชั้น 6 ห้อง Auditorium ทรู ดิจิทัล พาร์ค (East)


ภายในงาน มีการเปิดงานด้วยหัวข้อ ‘DCT : Driving Thailand's Workforce Transformation in the Age of AI’ โดย ม.ร.ว. นงคราญ ชมพูนุท ประธานสภาดิจิทัลฯ ตามด้วย Prof. Ramayya Krishnan ซึ่งได้นำเสนองานวิจัยในหัวข้อ ‘Linking Skills to Mobility: Insights for Workforce Development’ และ ‘Generative AI, Adoption and the Structure of Tasks’


ม.ร.ว. นงคราญ ชมพูนุท ประธานสภาดิจิทัลฯ ชี้ถึงบทบาทสำคัญของสภาดิจิทัลฯ ในการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงทักษะและกำลังคนดิจิทัลของประเทศไทยให้สอดคล้องกับยุค AI โดยทำหน้าที่เป็นองค์กรกลางในการเชื่อมโยงทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และสถาบันการศึกษา เพื่อร่วมกันพัฒนาระบบนิเวศที่เอื้อต่อการเรียนรู้และพัฒนาทักษะดิจิทัล นอกจากนี้ สภาดิจิทัลฯ ยังสนับสนุนการพัฒนาหลักสูตรและโปรแกรมการเรียนรู้ที่เน้นทักษะดิจิทัล รวมถึงการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี AI และการประยุกต์ใช้ AI ในภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ เพื่อส่งเสริมให้เกิดนวัตกรรมใหม่ ๆ และขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศ


“สภาดิจิทัลฯ มุ่งมั่นร่วมมือกับทุกภาคส่วน ดำเนินโครงการเพื่อส่งเสริมการ Upskill/Reskill ทักษะดิจิทัล และการประยุกต์ใช้ AI ในภาคอุตสาหกรรมมาอย่างต่อเนื่อง เช่น การเผยแพร่องค์ความรู้สู่สาธารณะผ่านสื่อและการจัดงาน Workshop การผลักดันมาตรการส่งเสริมให้เด็กนักเรียนสามารถเข้าถึงคอมพิวเตอร์ Laptop และ MOU ร่วมกับมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย (UTCC) และ สมาคมสมาพันธ์โอเพ่นซอร์สแห่งประเทศไทย (TOSF) เพื่อพัฒนากำลังคนด้านดิจิทัลของประเทศให้มีความรู้ความสามารถสอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงานยุคใหม่ เป็นต้น”


Prof. Ramayya Krishnan เน้นย้ำความสำคัญของการพัฒนาทักษะของแรงงานให้เติบโตเท่าทันกับความก้าวหน้าของเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) ที่เข้ามามีบทบาทในทุกภาคส่วน เพื่อสร้างแรงงานที่มีทักษะที่เหมาะสมและตอบสนองต่อความต้องการของตลาดแรงงาน แม้ AI จะมีข้อควรระวังในเรื่องของการนำไปใช้อย่างไม่ถูกต้อง เช่น Deepfake หรือ การเข้ามาทดแทนแรงงานมนุษย์ เป็นต้น เราไม่ควรหวาดกลัว AI แต่ควรมองเห็นความสำคัญของการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีเพื่อให้มนุษย์และ AI สามารถอยู่ร่วมกันได้


Prof. Ramayya Krishnan ยังได้แนะนำเยาวชนในเรื่องทักษะแรงงานที่จำเป็นต้องมี เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพในการทำงานร่วมกับ AI และเตรียมพร้อมสำหรับตลาดแรงงานในอนาคต โดยกล่าวว่า เยาวชนและคนรุ่นใหม่ต้องปรับตัวให้คุ้นเคยกับเทคโนโลยีและ AI พร้อมเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ได้ด้วยตนเอง เป็นนักแก้ปัญหาที่ดี รวมถึงความสามารถในการคิดวิเคราะห์ (Critical Thinking) และแก้ไขปัญหา (Problem Solving) ก็เป็นทักษะที่สำคัญเช่นเดียวกัน


ต่อจากนั้น ผู้ร่วมงานยังได้รับฟังแนวทางในการขับเคลื่อนนโยบายด้าน Digital Workforce และ AI จากผู้ทรงคุณวุฒิทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และสถาบันการศึกษา ได้แก่ Prof. Ramayya Krishnan, W. W. Cooper and Ruth F. Cooper Professor of Management Science and Information Systems, Carnegie Mellon University รศ. ดร.ธีรณี อจลากุล ผู้อำนวยการสถาบันข้อมูลขนาดใหญ่ (องค์การมหาชน) ผศ.ดร.อักฤทธิ์ สังข์เพ็ชร ผู้อำนวยการสถาบันวิศวกรรมปัญญาประดิษฐ์ มหาวิทยาลัยซีเอ็มเคแอล ดร.วีระ วีระกุล รองประธานสภาดิจิทัลฯ และ นางสาวพรปวีณ์ ม้วนหรีด คณะทำงานด้านสตรีและเด็กในยุคดิจิทัล สภาดิจิทัลฯ และทูตเยาวชนประเทศไทยคนแรก ของ Artemis Generation GISDA Thailand & NASA USA ที่มาร่วมพูดคุยใน Policy Roundtable หัวข้อ Skills, AI, and the Future of Work: Labor Market Transitions in the Age of Generative AI 


ดร.วีระ วีระกุล รองประธานสภาดิจิทัลฯ ได้แสดงวิสัยทัศน์ที่น่าสนใจถึงโอกาสของคนไทยในยุคดิจิทัล ว่าควรเรียนรู้ที่จะปรับตัวและอยู่ร่วมกับเทคโนโลยี โดยเฉพาะ AI ซึ่งจะเข้ามามีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนธุรกิจและสังคมในอนาคต การบูรณาการ AI เข้ากับธุรกิจต่างๆ จึงเป็นสิ่งสำคัญ นอกจากนั้น การที่ประเทศไทยจะสามารถก้าวทันต่อการเปลี่ยนแปลง จำเป็นต้องวางแผนระยะยาวอย่างรอบคอบ โดยเฉพาะการพัฒนาทักษะของคนไทยให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน โดยต้องร่วมกันวางแผนว่าในอีก 10-15 ปีข้างหน้า ประเทศไทยจะพัฒนาบุคลากรอย่างไร เพื่อให้สามารถแข่งขันในเวทีโลกได้ ทั้งนี้ ความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคการศึกษาจึงมีความสำคัญในการขับเคลื่อนเทคโนโลยีไปข้างหน้า 


รศ.ดร.ธีรณี อจลากุล ผู้อำนวยการสถาบันข้อมูลขนาดใหญ่ (องค์การมหาชน) กล่าวถึง โครงการเก็บข้อมูลจากแพลตฟอร์มการเรียนรู้แบบออนไลน์ (Online Learning Platform) เพื่อวิเคราะห์แนวโน้มและอนาคตของตลาดแรงงาน โดยสำรวจหลักสูตรที่คนไทยสนใจที่จะ Upskill/Reskill รวมถึงบ่งชี้ว่าสถาบันได้ให้ความสนใจกับเทคโนโลยี Large Language Model (LLM) โดยพัฒนาโมเดลพื้นฐานของ AI ที่มีอยู่ให้สามารถเข้าใจและสื่อสารภาษาไทยได้ เพื่อเป็น LLM ของประเทศไทย และผลักดันให้คนไทยเข้าถึงเทคโนโลยีได้ง่ายมากขึ้น


ผศ.ดร.อักฤทธิ์ สังข์เพ็ชร ผู้อำนวยการหลักสูตรวิศวกรรมปัญญาประดิษฐ์ มหาวิทยาลัยซีเอ็มเคแอล ชี้ให้เห็นถึงความจำเป็นที่จะต้องพัฒนาคนไทยให้เชี่ยวชาญด้าน AI และสร้างความเชื่อมั่นในการใช้เทคโนโลยี นอกจากนั้น ยังเผยถึงโครงการสร้าง Skill Mapping ซึ่งเป็นฐานข้อมูลทักษะที่จำเป็นในสายอาชีพ พร้อมกระตุ้นและจูงใจให้แรงงานที่มีศักยภาพเข้าสู่ตลาดแรงงานของบริษัทของประเทศไทยมากกว่าบริษัทต่างชาติ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของไทยในระดับโลก ทั้งนี้ กลไกสำคัญคือการส่งเสริมและสนับสนุนจากภาครัฐ และภาคเอกชน เพื่อสร้างอุตสาหกรรมรองรับแรงงานในอนาคต


นางสาวพรปวีณ์ ม้วนหรีด คณะทำงานด้านสตรีและเด็กในยุคดิจิทัล สภาดิจิทัลฯ และทูตเยาวชนประเทศไทยคนแรกของ Artemis Generation GISTDA Thailand & NASA USA กล่าวถึงอนาคตของ AI ในประเทศไทย โดยเห็นว่าถึงเวลาแล้วที่ควรพัฒนาโมเดล AI ที่เป็นของประเทศไทย เพื่อนำมาประยุกต์ใช้ในการทำงานของภาครัฐและเพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการประชาชน นอกจากนี้ ยังให้ความสำคัญกับการพัฒนานิสิตนักศึกษาด้านกฎหมายให้มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับจริยธรรมของ AI เพื่อให้สามารถกำกับดูแลและพัฒนา AI ให้เป็นไปในทิศทางที่ดี พร้อมกันนี้ ยังเน้นย้ำถึงความสำคัญของการสร้างความตระหนักรู้ให้กับผู้ใช้งานทั่วไปเกี่ยวกับการใช้ AI อย่างมีความรับผิดชอบ โดยต้องสามารถวิเคราะห์และประเมินความน่าเชื่อถือของผลลัพธ์ที่ได้จาก AI โดยในตอนท้าย นางสาวพรปวีณ์ ได้แนะนำเยาวชนถึงความจำเป็นในการพัฒนาทักษะด้าน AI ของแรงงานในอนาคต เพื่อให้สามารถทำงานร่วมกับ AI ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสามารถนำ AI มาประยุกต์ใช้ในการทำงานได้อย่างสร้างสรรค์


สภาดิจิทัลฯ ตระหนักถึงบทบาทสำคัญในการผลักดันนโยบายด้านดิจิทัลของประเทศไทย การจัดงาน Policy Roundtable ซึ่งเป็นเวทีสำคัญในการแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ระหว่างผู้เชี่ยวชาญระดับโลก นักวิชาการ ภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคการศึกษา มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างเครือข่ายความร่วมมือที่แข็งแกร่งในการพัฒนานโยบายที่เอื้อต่อการเติบโตของเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศไทย รวมถึงการพัฒนาทักษะแรงงานให้พร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของโลกการทำงานที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี AI