ข่าวสาร
“สภาดิจิทัลฯ” หารือ “สกมช.” ขับเคลื่อนมาตรการส่งเสริม Cyber Security สร้างเกราะป้องกันภัยไซเบอร์ระดับชาติ
18 ธ.ค. 2567

18 ธันวาคม 2567 ณ ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษาฯ กรุงเทพฯ - “สภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย (สภาดิจิทัลฯ)” นำโดย “ม.ร.ว. นงคราญ ชมพูนุท” ประธานสภาดิจิทัลฯ พร้อมด้วย "นายลักษมณ์ เตชะวันชัย" รองประธานและประธานพันธกิจด้านดิจิทัลเพื่อความยั่งยืน "นายนนทวัตต์ สาระมาน" กรรมการและประธานคณะทำงานความปลอดภัยทางไซเบอร์ และ "นายพรสุข ม้วนหรีด" กรรมการและประธานคณะทำงานส่งเสริมการลงทุน ประชุมหารือร่วมกับ “สำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (สกมช.)” นำโดย “พลอากาศตรี อมร ชมเชย” เลขาธิการสกมช. และคณะ เพื่อสร้างความร่วมมือในการส่งเสริมความปลอดภัยทางไซเบอร์ (Cybersecurity) ซึ่งเป็นวาระเร่งด่วนระดับชาติที่ต้องดำเนินการอย่างทันท่วงที 


ม.ร.ว. นงคราญ ชมพูนุท ประธานสภาดิจิทัลฯ กล่าวถึงพันธกิจของสภาดิจิทัลฯ ที่สอดคล้องและเป็นไปในทิศทางเดียวกับ สกมช. ทั้งในด้านการพัฒนาทักษะและกำลังคนดิจิทัล ผลักดันอุตสาหกรรมดิจิทัล และสนับสนุนให้ประเทศไทยเป็นศูนย์รวมนวัตกรรมของภูมิภาค โดยการสร้าง Ecosystem ที่อาศัยความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน โดยมุ่งเป้าลดความเสียหายจากภัยคุกคามออนไลน์


ม.ร.ว. นงคราญ เน้นย้ำถึงความสำคัญของการสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับภัยคุกคามทางไซเบอร์ให้กับประชาชนทุกกลุ่ม และการพัฒนากฎหมายที่ทันสมัยเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงของภัยคุกคามที่รวดเร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งการให้ความสำคัญกับการป้องกันก่อนเกิดเหตุ มากกว่าการแก้ไขปัญหาหลังเกิดเหตุ การพัฒนากฎหมายดังกล่าวเป็นหัวใจสำคัญในการป้องกันภัยไซเบอร์ที่แข็งแกร่งยิ่งขึ้น 


พลอากาศตรีอมร ชมเชย เลขาธิการ สกมช. กล่าวว่า สกมช. มีวิสัยทัศน์ในการเป็นผู้นำขับเคลื่อนความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ของประเทศ แผนยุทธศาสตร์ของ สกมช. คือการยกระดับขีดความสามารถในการป้องกันและรับมือ สร้างความตระหนักรู้ และพัฒนาองค์กรสมรรถนะสูง นอกจากนี้ยังมีการดำเนินงานแบบ Reactive และ Proactive เพื่อช่วยเหลือประชาชนเมื่อเกิดความเสียหาย รวมถึงคอยเฝ้าระวังเพื่ออุดช่องโหว่ ป้องกันภัยก่อนก่อนเหตุ


“ปัจจุบัน ประเทศไทยมีกฎหมายที่กำหนดมาตรการลงโทษ เสริมสร้างความเข้มแข็งของภาครัฐ และให้สิทธิประชาชนในการดูแลข้อมูลของตนเอง อย่างไรก็ตาม การบังคับใช้กฎหมายอาจไม่เพียงพอต่อการสร้างความปลอดภัยและป้องกันภัยคุกคาม จึงต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่ายเพื่อร่วมกันขับเคลื่อนโยบายด้านดิจิทัล การพัฒนาบุคลากรด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ ตลอดจน การอบรมความรู้แก่ประชาชนทั่วไป เป็นต้น” 


ในที่ประชุมเห็นพ้องกันว่าการสร้าง “ระบบนิเวศไซเบอร์” ที่แข็งแกร่ง ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน โดยสภาดิจิทัลฯ และ สกมช. จะร่วมมือกันเป็น “Team Thailand for Cyber Security” เพื่อป้องกันและรับมือกับภัยคุกคามทางไซเบอร์ที่ทวีความรุนแรงและซับซ้อนมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคดิจิทัลที่ข้อมูลมีความสำคัญต่อทุกภาคส่วน