ข่าวสาร
“สภาดิจิทัลฯ” ร่วมกับคณะกรรมการผ่านประชุมออนไลน์ ถกข้อคิดเห็นต่อ พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ.2542 ทบทวนธุรกิจที่จะนำออกจากบัญชีท้าย
20 ก.ค. 2564

20 กรกฎาคม 64 ที่ผ่านมา  สภาดิจิทัลฯ นำโดย ดร. วีระ วีระกุล รองประธานและประธานพันธกิจด้านการเป็นศูนย์รวมนวัตกรรมของโลก จัดให้มีประชุมออนไลน์ระดมความคิดเห็นของกรรมการและสมาชิกสภาดิจิทัลฯ มุ่งเน้นรายละเอียดต่อประเด็นการทบทวนธุรกิจที่จะนำออกจากบัญชีท้าย พ.ร.บ. การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 ซึ่งเป็นกฎหมายที่กำกับดูแลการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวและปกป้องธุรกิจที่คนไทยยังไม่มีความพร้อมในการแข่งขัน โดยกฎหมายดังกล่าวมีผลบังคับใช้มากว่า 20 ปี ด้วยความยาวนานของบทกฎหมายฯ ทำให้ล้าสมัย ไม่สอดคล้องกับสภาพทางเศรษฐกิจและสังคมในปัจจุบันที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว  สภาดิจิทัลฯ จึงจัดประชุมรวบรวมข้อคิดเห็นรวมทั้งข้อเสนอแนะในประเด็นพ.ร.บ.นี้ เพื่อทำการรวบรวมข้อคิดเห็นและนำเสนอแก่กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ต่อไป

 

ในการประชุมได้มีการรับฟังความคิดเห็นอย่างรอบด้านและถี่ถ้วน ในประเด็นต่างๆ ที่เกี่ยวกับ พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ.2542 ได้แก่ ความหมายของคำว่า ‘คนต่างด้าว’, การกำหนดทุนขั้นต่ำและระยะเวลาในการนำหรือส่งทุนขั้นต่ำเข้ามาในประเทศไทย พ.ศ. 2562, การออกเลขประจำตัวคนต่างด้าว, การทบทวนองค์ประกอบ อำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว, การกำหนดเงื่อนไขให้คนต่างด้าวผู้รับใบอนุญาตต้องปฏิบัติ, การถูกเปรียบเทียบปรับในความผิดตามพ.ร.บ. การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542, การเปลี่ยนโทษปรับทางอาญาเป็นโทษปรับทางปกครองหรือโทษปรับทางพินัย และ ประเภทธุรกิจตามบัญชีท้ายพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 เป็นต้น

 

ทั้งนื้ สรุปรายละเอียดข้อคิดเห็นจากกรรมการและสมาชิกของสภาดิจิทัลฯ ที่มีต่อ พ.ร.บ. ในประเด็นต่างๆ ดังนื้ การพิจารณาอัตราส่วนทุนกับเงินกู้ที่จะใช้ในการประกอบธุรกิจที่ได้รับอนุญาต ควรมีการเปรียบเทียบมาตรฐานกับประเทศเพื่อนบ้านเช่น ประเทศสิงคโปร์ และ ฮ่องกง ซึ่งเป็นต้นแบบในการลงทุนค่อนข้างสูง, การพิจารณารายละเอียดเงื่อนไขประเภทธุรกิจที่ได้รับอนุญาตให้ชัดเจน เพื่อไม่ให้เกิดความคลุมเครือในการหลีกเลี่ยงความผิดทางกฎหมาย, การกำหนดรายละเอียดแหล่งที่มาของเงินทุนขั้นต่ำ เนื่องจากอาจจะไม่ได้เป็นเงินที่เกิดจากการระดมทุนในประเทศ, ประเด็นคำนิยามของธุรกิจในบัญชีแนบท้ายที่ไม่ได้มีการปรับปรุงมาเป็นระยะเวลานาน ส่งผลให้มีคำนิยามที่กว้างมาก เช่น ธุรกิจบริการ ซึ่งครอบคลุมหลากหลายธุรกิจ จึงควรมีการปรับปรุงคำนิยาม และแบ่งประเภทธุรกิจ โดยมุ่งเน้นเฉพาะเจาะจงในการระบุรายละเอียดประเภทธุรกิจเกี่ยวกับดิจิทัลอย่างชัดเจน และข้อเสนอในการรับฟังความคิดเห็นต่อกลุ่ม VC และ Startup รวมถึงธุรกิจที่มีการส่งเสริมด้านการลงทุนเพิ่มเติม เพื่อรับฟังข้อเสนอแนะจากภาคส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป เป็นต้น

 

“สภาดิจิทัลฯ จะดำเนินการรวบรวมและสรุปข้อเสนอแนะทั้งหมด เร่งนำเสนอต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ในการพิจารณาแนวทางหลักเกณฑ์เกี่ยวกับ พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ.2542 เพื่อใช้ประกอบการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมายฯ รวมทั้งเป็นแนวทางในการกำกับดูแลการประกอบธุรกิจระหว่างผู้ประกอบการไทยและผู้ประกอบการต่างชาติ เพื่อให้การบังคับใช้กฎหมายมีความสอดคล้องกับสภาพการประกอบธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงไปในปัจจุบัน อีกทั้งเป็นการส่งเสริมให้มีการแข่งขันในการประกอบธุรกิจทั้งในและต่างประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไปในอนาคต" ดร. วีระ วีระกุล รองประธานและประธานพันธกิจด้านการเป็นศูนย์รวมนวัตกรรมของโลก สภาดิจิทัลฯ กล่าวสรุปในตอนท้ายการประชุม